xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์เปิดค่ายยุวหมอดินน้อยภารกิจสู้แล้งขยายผลสู่ผู้ปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์จัดอบรมหมอดินน้อย หรือยุวหมอดินในโรงเรียน หวังขยายผลการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรดินแบบวิทยาศาสตร์ง่ายๆ สู่ผู้ปกครองพร้อมเตรียมตัวรับมือภัยแล้งปีนี้

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการอบรมหมอดินน้อย หรือยุวหมอดินในโรงเรียน โดยมีโรงเรียนเครือข่ายระดับประถมศึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านโคกคันจ้องหนองแต้สามัคคี อ.ยางตลาด โรงเรียนภูฮังวิทยาคาร อ.หนองกุงศรี โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ อ.กุฉินารายณ์ และโรงเรียนบ้านดงไร่ อ.สหัสขันธ์

โดยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 60 คน และคณะครูอาจารย์ผู้ควบคุมเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็นฐานความรู้เรื่องดิน ฐานนวัตกรรมพัฒนาที่ดิน ฐานวิธีเก็บตัวอย่างดิน และฐานพืชปุ๋ยสด และหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดิน

นอกจากนี้ยังจะเน้นให้เกิดการรณรงค์ การชักชวนชุมชนได้หันมาในช่วงฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา มาปรับปรุงดินโดยวิธีธรรมชาติเพื่อลดต้นทุนทำการเกษตร และลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างยั่งยืน

นายมหิทร ภูติโส นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ในฐานะผู้ดูแลโครงการ กล่าวว่า ปัญหาดินเสื่อมโทรมและภัยธรรมชาติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือมนุษย์ ทั้งจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการเผาหน้าดิน การใช้ปุ๋ยเคมี และการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพดิน นำมาซึ่งปัญหาระยะยาวที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับดินและผลผลิตของเกษตรกร

ในส่วนของโครงการอบรมหมอดินน้อย หรือยุวหมอดินในโรงเรียนที่กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมและสนับสนุน ที่มุ่งเน้นในกลุ่มของเด็กและเยาวชน ที่จะได้รับรู้เรื่องราวของทรัพยากรดินอย่างเข้าถึงในรูปแบบเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าใจง่าย รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพื้นฐานการเกษตร การพัฒนาดินอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ยังหวังให้นำเอาความรู้ขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชนของตนเอง ที่จะทำให้ลดการเผาหน้าดินในไร่นาได้

“สิ่งที่สำคัญในช่วงหน้าแล้งนี้ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทั้งที่นาและไร่ สวนต่างๆ ที่ไม่ได้ทำการเกษตร ในทางเลือกของเกษตรกรปีนี้กับการต่อสู้กับภัยแล้ง น่าจะงดการปลูกพืชต่างๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ก็น่าจะหันมาปรับปรุงดินด้วยวิถีอินทรีย์” นายมหิทรกล่าว และว่า

การใช้ต้นทุนก็น้อย โดยเฉพาะการปลูกพืชคลุมดิน ใช้น้ำน้อยอย่างพืชตระกูลถั่วและปอเทืองทดแทน ซึ่งยุวหมอดินที่เข้ารับการอบรมจะได้เข้าไปศึกษาพื้นที่ส่งเสริมของเกษตรกรตัวอย่างที่ได้ลงมือทำจริงๆ จนประสบความสำเร็จ เป็นวิธีที่จะสู้และรับมือกับภัยแล้งในปีนี้อีกทางหนึ่ง กำลังสำคัญอย่างยุวหมอดิน จะได้นำความรู้ไปปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้ทั้งในโรงเรียนและชุมชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น