เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยื่น 5 ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เน้นรถพยาบาลปลอดภัย - หมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว - กำหนดหลักสูตรสอนปฐมพยาบาลทุกระดับ - พัฒนาระบบฐานข้อมูล - แก้ระเบียบ อปท. หวังผลักดันงานการแพทย์ฉุกเฉินก้าวหน้า
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2559 “เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย” จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการประชุม ได้มีผู้ปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยถึงรัฐบาล ผ่าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมี พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน โดยข้อเสนอดังกล่าวมี 5 ข้อ ดังนี้
1. ต้องกำหนดนโยบายให้มีหลักสูตรการเรียนการสอน การปฐมพยาบาล และการช่วยฟื้นคืนชีพ ในหลักสูตรการเรียนทุกระดับ 2. กำหนดให้มีหมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว และเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทุกจังหวัด 3. กำหนดมาตรการรถพยาบาลปลอดภัย โดยกำหนดให้รถพยาบาลมีคุณลักษณะด้านความปลอดภัย และพนักงานขับรถผ่านการสอบใบขับขี่รถพยาบาลโดยเฉพาะ 4. กำหนดนโยบายการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งระบบ และ 5. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ข้อกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เอื้อต่อการดำเนินการ และการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
พญ.มยุรา กล่าวว่า สธ. จะรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา ซึ่งทุกภาคส่วนเองก็ต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยให้ก้าวหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ สธ. เน้นย้ำ และให้ความสำคัญที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ความปลอดภัยของรถพยาบาล เพื่อให้สามารถส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น สธ. จึงได้ออกนโยบายเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และให้ทุกหน่วยงาน โรงพยาบาลต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางในปฏิบัติ คือ 1. บุคลากรทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรม โดยเฉพาะพนักงานขับรถพยาบาล และที่สำคัญ อยากให้พนักงานทุกคนได้ทดลองมานอนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย เพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริง เพื่อให้บริการอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด
2. สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในรถพยาบาล ทั้งการติดตั้งกล้องซีซีทีวี การติดจีพีเอส เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ และ 3. เน้นย้ำเสมอว่าการขับรถเร็วไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยที่สุด เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้น ขณะส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถสื่อสาร ปรึกษาอาการผู้ป่วยกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการได้ และยังสามารถประสานการเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งดีกว่ารีบไปถึง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม และแนวทางนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสี่ยงไปด้วย โดยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายให้ขับรถพยาบาลได้ไม่เกิน 80 - 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่สำคัญ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรทุกครั้ง ไม่จำเป็นก็ไม่ควรฝ่าไฟแดง
“ส่วนตัวขอชื่นชมผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่เสียสละ และร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน โดยผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น หากทำงานด้วยความปลอดภัย ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีความปลอดภัยต่อไปด้วย” พญ.มยุรา กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่