สธ. ออกระเบียบควบคุมจรรยาบรรณ “แพทย์” เพิ่มอีก 7 สาขา รวมแผนจีน จิตวิทยาคลินิก กิจกรรมบำบัด กายอุปกรณ์ รังสีเทคนิค ห้ามโฆษณา ใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาความรู้ความชำนาญ ชี้เผยแพร่ ตอบปัญหาทางสื่อ แจ้งสถานที่ประกอบการได้ แต่ห้ามโอ้อวดเกินจริง ไม่บอกเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว ห้ามฮั้วผลประโยชน์
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมการโฆษณาของผู้ประกอบโรคศิลปะ ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559 ตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งตามระเบียบนี้มีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบโรคศิลปะ 7 สาขาใหม่ ได้แก่ สาขากิจกรรมบำบัด สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขารังสีเทคนิค สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขากายอุปกรณ์ และสาขาการแพทย์แผนจีน ซึ่งมีผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ 7,624 คน
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ระเบียบนี้อนุญาตให้ผู้ประกอบโรคศิลปะสามารถโฆษณา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโรคศิลปะทางสื่อ รวมถึงการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายการประกอบโรคศิลปะของตนได้ แต่ห้ามไม่ให้โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบโรคศิลปะ ความรู้ความชำนาญในการประกอบโรคศิลปะของตน ในกรณีที่ทำการเผยแพร่ หรือตอบปัญหาทางสื่อทุกประเภท สามารถแสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ และแจ้งสถานที่ประกอบโรคศิลปะได้ แต่ห้ามสื่อไปในทำนองโฆษณาโอ้อวดเกินความเป็นจริง หลอกลวง หรือทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อมาใช้บริการ ส่วนการแจ้งสถานที่ประกอบโรคศิลปะต้องไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวปรากฏอยู่ในที่เดียวกัน รวมทั้งห้ามไม่ให้หรือรับผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทน เนื่องจากการรับหรือส่งผู้ป่วยเพื่อรับบริการทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าการฮั้วผลประโยชน์ ไม่ออกใบรับรองเท็จ ไม่ใช้หรือสนับสนุนผู้อื่นให้ประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมาย
“การโฆษณาการประกอบโรคศิลปะและความรู้ความชำนาญที่อนุญาตให้ผู้ประกอบโรคศิลปะ สามารถกระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย คือ 1. การแสดงผลงานในวารสารทางวิชาการหรือในการประชุมวิชาการ 2. การแสดงผลงานในหน้าที่ หรือการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ 3. การแสดงผลงานหรือความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อการศึกษามวลชน 4. การประกาศเกียรติคุณเป็นทางการโดยสถาบันวิชาการ สมาคม หรือมูลนิธิ” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวและว่า ในกรณีการติดป้าย หรืออักษรที่สำนักงานและที่อยู่ของตน สามารถใช้ข้อความเฉพาะเรื่องได้ดังต่อไปนี้ 1. ชื่อ นามสกุล และสามารถใช้ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รวมทั้ง ยศ ฐานันดรศักดิ์ได้ 2. ชื่อปริญญา วุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติ หรือหนังสือแสดงคุณวุฒิอย่างอื่นที่ได้มาอย่างถูกต้องจากคณะกรรมการวิชาชีพ หรือจากสถาบันการศึกษารับรอง 3. ที่อยู่ ที่ตั้งสำนักงาน หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่น ๆ 4. ประเภทใบอนุญาตและสาขาแห่งการประกอบวิชาชีพของตน 5. ความรู้ความสามารถเฉพาะทางการประกอบโรคศิลปะที่ได้รีบอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาชีพ 6. ชื่อสถานพยาบาลและเวลาทำงาน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้แจ้งเวียนไปยัง กทม. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้ประกอบโรคศิลปะในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว
ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานโฆษณา ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการโฆษณา ส่วนผู้ประกอบโรคศิลปะ จะส่งให้คณะกรรมการวิชาชีพเป็นผู้พิจารณาความผิด ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2556 ตามความรุนแรงการกระทำผิดตั้งแต่สถานเบาคือว่ากล่าวตักเตือนจนถึงขั้นหนักสุดคือ เพิกถอนในอนุญาต
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่