โดย...พญ.บุษกร ดาราวรรณกุล อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่พบในผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงมาเป็นเวลานาน ซึ่งกรดยูริกที่สูงจะเกิดการตกตะกอนสะสมเป็นผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะในข้อและบริเวณรอบข้อ และเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น จะทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันอย่างรุนแรง
อาการของผู้ป่วย
1. ระยะข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ร่วมกับข้ออักเสบอย่างรุนแรงบริเวณนิ้วเท้า หลังเท้า ข้อเท้า หรือ ข้อเข่า มักถูกกระตุ้นให้กำเริบด้วยการรับประทานอาหารที่มียูริกสูง เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ยอดผักบางชนิด รวมทั้งการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือได้รับการกระแทกที่บริเวณข้อ อาการข้ออักเสบจะเกิดขึ้นในช่วง 3 - 7 วัน สามารถหายเองได้ แต่อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการรับประทานยาโคลชิซีน (colchicine) หรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (diclofenac) อินโดเมทาซิน (indomethacin) เป็นต้น ในระยะแรกอาการข้ออับเสบที่เป็นแต่ละครั้งจะเกิดห่างกันค่อนข้างนาน แต่ถ้ายังไมได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการข้ออักเสบจะกำเริบถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และจำนวนข้อที่อักเสบในแต่ละครั้งจะมากขึ้นกว่าเดิม
2. ระยะมีปุ่มก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout) เมื่อเวลาผ่านไป ในผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีผลึกยูเรตสะสมมากขึ้นจนเกิดเป็นปุ่มก้อนโทฟัส ลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง ผิวขรุขระ สามารถตรวจพบปุ่มก้อนเหล่านี้ได้ที่บริเวณรอบ ๆ ข้อ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ใบหู ข้อศอก ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย นิ้วมือและนิ้วเท้า และผู้ป่วยมักจะมีอาการข้ออักเสบติดต่อกันจนเหมือนเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ในบางรายที่เป็นมากจะมีข้อพิการผิดรูปร่วมด้วยได้ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรค การตอบสนองต่อยา NSAIDs หรือ โคลชิซีน จะไม่ดีเท่าเดิม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกือบตลอดเวลา
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ อาจจะมีโรคร่วมอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคไตวาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
การวินิจฉัยโรคเกาต์ ที่ดีและแม่นยำที่สุด คือ การเจาะน้ำไขข้อจากข้อที่กำลังอักเสบ มาส่งตรวจเพื่อหาผลึกยูเรต แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะที่ไม่มีอาการข้ออักเสบ หรือมีข้ออักเสบแต่ไม่สามารถเจาะข้อได้ การวินิจฉัยจำเป็นต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูระดับยูริก การเอกซเรย์ จึงจะสามารถให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องได้
การรักษา ประกอบไปด้วยการให้ยาเพื่อรักษาอาการข้ออักเสบ และการให้ยาลดระดับยูริกในเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์ โดยเป้าหมายของการรักษา คือ ลดระดับของกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 6 มก./ดล. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะไม่มีอาการข้ออักเสบกำเริบอีก และปุ่มก้อนโทฟัสสามารถหายไปได้ แต่ปัจจุบันผู้ป่วยโรคเกาต์จำนวนมากเลือกที่จะซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากในระยะแรกอาการข้ออักเสบจะตอบสนองดีต่อยา ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกวิธี รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้มาก เช่น กระเพาะเป็นแผล กระเพาะอาหารทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ ไตวาย รวมถึงการแพ้ยาที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
ดังนั้น การใช้ยารักษาโรคเกาต์จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และลดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยา รวมไปถึงผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจหาโรคร่วมต่าง ๆ ที่อาจซ่อนอยู่ดังที่ได้กล่าวข้างต้นเพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่