xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน “โรคสมาธิสั้น” ในเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก www.medicthai.com
โดย...พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลปิยะเวท

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านสงสัยว่า ลูกของเราซน ไม่นิ่ง วู่วาม รอคอยไม่ค่อยได้ แบบนี้เป็นสมาธิสั้นหรือไม่ แล้วจะดูหรือสังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น แล้วถ้าสงสัยจะไปพบใคร จะรักษาอย่างไร รักษาหายไหม มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจของคุณแม่คุณพ่อ ดังนั้น ควรจะทำความเข้าใจกับโรคสมาธิสั้นกันก่อนจะดีที่สุด

โรคสมาธิสั้น (Attention deficit / hyperactivity disorder: ADHD) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยเกิดขึ้นก่อนอายุ 12 ปี เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น กลุ่มอาการ ประกอบด้วย อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) อาการขาดสมาธิ (attention deficit) และอาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและการเรียนในเด็กวัยเรียนมากที่สุด โดยพบประมาณร้อยละ 5 และจะมีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 50 อาการที่บ่งชี้หรือสงสัยว่าอาจมีโรคสมาธิสั้น

1. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง จะมีลักษณะซน ยุกยิก นั่งนิ่งๆไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา จับโน่นนี้ มือเท้าไม่อยู่สุข ผาดโผน ชอบปีนป่าย เล่นแรง เล่นเสียงดัง พูดมาก แกล้งหรือแหย่เด็กคนอื่น ชวนเพื่อนคุย

2. อาการขาดสมาธิ วอกแวกง่าย ไม่จดจ่อในการทำงาน เหม่อลอย ทำงานช้า/ไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ งานไม่เรียบร้อย ขี้ลืม เหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย ทำของใช้ส่วนตัวหายบ่อย ๆ

3. หุนหันพลันแล่น ลักษณะใจร้อน วู่วาม ไม่ระวังตัว ไม่คิดก่อนทำหรือพูด พูดโพล่งโดยไม่ถูกกาลเทศะ พูดแทรกขณะที่ผู้อื่นพูดอยู่ รอคอยไม่ค่อยได้ อาการแสดงของโรคนี้แตกต่างกันตามอายุ ในช่วงวัยก่อนวัยเรียนมักพบอาการซนอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น เป็นอาการหลัก

ส่วนในเด็กวัยเรียน ปัญหามักเป็นปัญหาที่โรงเรียน เช่น ไม่ตั้งใจฟังในห้องเรียน ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่เสร็จ ไม่ถูกต้อง และมีปัญหาในการเข้าสังคม ในเด็กวัยรุ่นอาการซนไม่นิ่ง จะค่อยๆ ลดลง แต่จะพบว่าเด็กจะไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย จัดระบบตัวเองไม่ได้ และไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้

การวินิจฉัยโรคนี้ โดยอาศัยประวัติที่ละเอียดในทุกด้านและลักษณะอาการ จากการพูดคุยสอบถามคุณพ่อคุณแม่ ตัวของน้องเอง และรวบรวมข้อมูลจากคุณครูในประเด็นต่างๆ เช่น ลักษณะพฤติกรรมที่บ้านและในห้องเรียน การเลี้ยงดู ประวัติพัฒนาการ ผลการเรียน เพื่อน รวมถึงการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญา การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ส่งตรวจเฉพาะรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น

การรักษามีทั้ง การปรับพฤติกรรมในห้องเรียน เช่น ให้นั่งหน้าชั้น นั่งใกล้เด็กเรียบร้อย ไกลประตูหน้าต่าง ชมเชยเมื่อทำดี เมื่อหมดสมาธิให้เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นต้น และการปรับพฤติกรรมที่บ้าน โดยคุณพ่อคุณแม่ฝึกวิธีการจัดการกับลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น จัดตารางเวลาให้ชัดเจน นั่งประกบเวลาทำการบ้าน ลดเวลาดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก จัดหาที่สงบนั่งทำการบ้าน เป็นต้น

อีกวิธีการรักษานั่นคือ การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้มักเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นซึ่งเป็นยาที่ใช้ได้ผลดี ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง อีกทั้งมีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น

เป้าหมายในการรักษาเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆที่บกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น เพิ่มความรู้สึกดีต่อตนเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น การรักษาเด็กซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมที่จะค้นหาด้านดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่ น้องต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้างซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ การยอมรับ การเห็นคุณค่าในตัวของน้อง คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าคนที่จะช่วยเหลือโรคนี้ได้มากที่สุด ก็คือ ตัวคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น