xs
xsm
sm
md
lg

อั้นฉี่ ดื่มน้ำน้อย ทำ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” พบหญิงป่วยมากกว่าชาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้หญิงป่วย “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” มากกว่าผู้ชาย เผยกลุ่มเสี่ยงมักอั้นฉี่นาน ดื่มน้ำน้อย เชื้อโรคเติบโตทำให้ฉี่บ่อยครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ เป็นเลือด ขุ่น มีกลิ่นผิดปกติ มีไข้ ชี้เป็นเรื้อรังก่อโรคไตถึงเสียชีวิตได้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า ประกอบกับปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนักได้ เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีหลายชนิด ประมาณ 75-95% เกิดจากเชื้ออีโคไล มีทั้งจากการอักเสบเฉียบพลัน รักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆ หายๆเ รื้อรัง มีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ ผู้ที่กลั้นปัสสาวะนาน ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี ผู้สูงอายุ เพราะสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล และไม่ค่อยเคลื่อนไหว มักนั่งๆ นอนๆ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย ส่งผลให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ โดยเฉพาะตอนสุดปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า คือ ปัสสาวะสีชมพู หรือเป็นเลือด หรือตรวจพบเม็ดเลือดแดงได้จากการตรวจปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น หรืออาจเป็นหนองขึ้นกับความรุนแรงของโรค มีกลิ่นผิดปกติปวดท้องน้อยมีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ แต่มักไม่มีไข้เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง บางครั้งอาจมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย เมื่อเกิดจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ เมื่อเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

“ผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การลุกลามเป็นการอักเสบของไต ซึ่งเมื่อเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ หรือเมื่อการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งทั้ง 2 กรณีเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนแนวทางการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะ การรักษาสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และการดื่มน้ำมากๆ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว” อธิบดีกรมการแพทยื กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ไม่กลั้นปัสสาวะนาน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ รักษาควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รักษาความสะอาดในการขับถ่าย ไม่ควรใช้สเปรย์ หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ เพราะก่อการระคายเคือง ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อต่อช่องคลอด ปากท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ เลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งพบแพทย์ตามนัดเสมอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น