xs
xsm
sm
md
lg

“ขับเร็ว-หลับใน-ไม่คาดเบลต์” ต้นตอเจ็บตายรุนแรง “รถสาธารณะ-รถทัศนศึกษา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยปี 58 มีรถสาธารณะ - รถทัศนศึกษา เกิดอุบัติเหตุ 104 ครั้ง ดับในที่เกิดเหตุ 49 คน เหตุขับรถเร็ว อ่อนล้า หลับใน ไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน ในปี 2558 พบรถโดยสารสาธารณะ เกิดอุบัติเหตุ 104 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 49 คน บาดเจ็บ 675 คน ในจำนวนนี้เป็นรถทัศนศึกษาของสถานศึกษาถึง 6 ครั้ง ส่วนในปี 2559 ระหว่างวันที่ 1 - 9 มี.ค. 2559 รถโดยสารสาธารณะ รถทัศนศึกษา เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 174 คน เสียชีวิต 8 คน จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรง ในผู้โดยสาร คือ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้หลุดออกจากเก้าอี้ และกระเด็นออกนอกตัวรถ

“สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ พบว่า เกิดจากพนักงานขับรถ มีความอ่อนล้า เนื่องจากขับรถต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะรถทัศนาจรที่จ้างเหมาพนักงานขับรถคนเดียว รวมทั้งไม่ชำนาญเส้นทาง ใช้ความเร็วไม่เหมาะสมรวมถึงเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางลาดชัน ลงเนินโค้งหักศอก ประกอบกับสภาพรถที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ระบบเบรก ความแข็งแรงโครงสร้างหรือเก้าอี้หลุด” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ขอแนะนำว่า 1. พนักงานขับรถ ควรศึกษาเส้นทางบริเวณใดที่เสี่ยงอันตราย และใช้เส้นทางที่มีความชำนาญ 2. ตรวจสอบสภาพรถ อุปกรณ์ส่วนควบให้สามารถทำงานได้สมบูรณ์ 3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อมิให้เกิดอาการง่วงหลับใน เปลี่ยนพนักงานขับรถที่ขับต่อเนื่องเป็นระยะทาง 400 กิโลเมตร หรือขับเกินกว่า 4 ชั่วโมง ต้องหยุดพักไม่น้อยกว่า 30 นาทีและขับต่อไปอีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า 4. กรณีทัศนศึกษาของสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงเดินทางกลางคืน และเพื่อให้ลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และ 5. ผู้รับผิดชอบดูแลการไป ทัศนศึกษา ต้องช่วยกำกับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยให้ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถ หรือได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าคนไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และช่วยลดการเสียชีวิตได้ รวมทั้ง ตรวจสอบว่า มีการประกันภัย ทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ รวมทั้งประกันภัยบุคคลถ้าทำได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น