จิตแพทย์วอนหยุดแชร์ภาพ - คลิป สาวป่วยไบโพลาร์เปลือยกายกลางถนน หลังขับรถชนแท็กซี่ ชี้ เป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย อธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้แชร์คลิปทำผู้ป่วยเสียหาย ผิด พ.ร.บ. สุขภาพจิต มีโทษทั้งจำและปรับ ย้ำ “ไบโพลาร์” เกิดจากความผิดปกติสารเคมีในสมอง ทำเกิดอารมณ์ 2 ขั้ว ชี้ อากาศร้อนขึ้นมีผลกระทบต่ออารมณ์
จากกรณีสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปภาพรถเก๋งสีขาว ขับรถย้อนศรมาชนเข้ากับรถแท็กซี่ และออกมาเปลือยกายบนถนน บริเวณปากซอยลาดพร้าววังหิน 39 - 41 ซึ่งชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ พยายามจะนำผ้ามาคลุมตัวให้ แต่หญิงคนดังกล่าวกับแสดงความไม่พอใจ แล้วปัดผ้าออกนั้น โดยพี่ชายออกระบุว่าน้องป่วยเป็นโรคไบโพลาร์
วันนี้ (8 มี.ค.) นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การแชร์ภาพและคลิปของผู้ป่วยสาวรายนี้ อาจสร้างความอับอายให้กับผู้ป่วยได้ และเท่ากับการซ้ำเดิมผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว อยากให้สังคมเข้าใจ ลบภาพ และหยุดแชร์คลิปดังกล่าว ทั้งนี้ ตามปกติของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอาการอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางสุดขั้ว แบบเป็นสัปดาห์หรือเดือน เช่น อาจมีพฤติกรรมชอปปิ้งใช้จ่ายแบบไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกที เกิดอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการไบโพลาร์ จะมีอาการซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย มากกว่าทำร้ายคนอื่น สำหรับการรักษาเน้นการรับประทานยาเป็นหลัก เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง สำหรับอากาศร้อนอาจมีส่วนให้ผู้ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะแม้แต่คนปกติเจอกับอารมณ์ร้อนก็ยังเกิดปัญหาการควบคุมอารมณ์ได้
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า โรคไบโพลาร์ (Bipola disorder) แปลตรงตัวได้ว่า ไบ (สอง) โพลาร์ (ขั้ว) โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เป็นโรคทางสมองที่แสดงออกมาทางอารมณ์และพฤติกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่พบบ่อยสองอย่างคือ แมเนีย (mania) ลักษณะเป็นแบบคึกคักครื้นเครง สนุกสนานเกินพอดี ไม่สามารถระงับยับยั้งอารมณ์ของตนได้ อีกด้านคือซึมเศร้า (depression) เบื่อท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ อาการแต่ละขั้วอาจเป็นช่วง ๆ สลับกันไปใช้เวลาเป็นเดือน ๆ หรือสลับเร็วไปมาภายในวันเดียวกันได้ ทำให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิด การทำงาน
สาเหตุพบว่ามีสารเคมีในสมองผิดปกติ ดังนั้น การใช้ยาในกลุ่ม Mood stabilizer หรือยาเพื่อความคงที่ของอารมณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับยากันชัก จะช่วยให้อาการหายได้ ร่วมกับการรักษาทางจิตใจ สังคม ที่สำคัญ ผู้ป่วยเมื่อมามีอาการดีหลังรักษาบางคนอับอายกับชุดพฤติกรรมของตนเองที่ได้ทำไปโดยควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้เกิดความรู้สึกผิดมากอาจทำให้ขั้วด้านซึมเศร้ารุนแรงและเกิดขึ้นเร็ว ขอช่วยกันอย่าแชร์คลิปนี้ต่อ ให้คิดถึงว่าหากเป็นลูกสาว พี่สาว น้องสาว คุณแม่ หรือญาติเรา อยากให้เป็นอย่างไร ขอเพียงปฏิบัติต่อเขาแบบเดียวกับคนที่เรารักก็พอ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคไบโพลาร์พบได้บ่อยทั่วโลก ประมาณ 1 - 2% พบได้ในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน อายุเฉลี่ยที่เริ่มพบ คือ 20 - 30 ปี โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ แต่สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้งได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ 80 - 90% การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพื่อคุ้มครองสังคมจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและมีภาวะอันตราย และคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวช ให้ได้รับการบำบัดรักษา คุ้มครองสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย รวมไปถึงการโฆษณา หรือการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศใด ๆ ที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย ซึ่งการฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
“หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที โดยไม่ต้องกลัวความผิดจากญาติของผู้นั้นจะมาฟ้องร้อง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคนี้มีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเสริม เช่น ประสบวิกฤตการณ์ หรือมีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต หรือมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ได้แก่ การอดนอน การใช้สารเสพติด หรือยากระตุ้น การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด หากมีผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง ในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดควรร่วมเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก สำหรับวิธีป้องกัน คือ ควรปรับวงจรการกินการนอนให้ปกติและสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้สารเสพติด เช่น สุรา ยากระตุ้น ตลอดจน หมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่