กรมวิทย์พัฒนาวิธีตรวจ “ฟิลเลอร์” ได้เป็นแห่งแรก ใช้วิธีวิเคราะห์ปฏิกิริยาคาร์บาโซล ช่วยรู้มีส่วนประกอบ “กรดไฮยาลูรอนิก” หรือไม่ เผยผลตรวจพบฟิลเลอร์มี อย. มีกรดไฮยาลูรอนิก 100% ของไร้ทะเบียนเจอฟิลเลอร์ปลอม 27.3%
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานเสริมความงามมีการฉีดสาร “ฟิลเลอร์” เพื่อลดริ้วรอย ส่วนประกอบหลัก คือ “กรดไฮยาลูรอนิก” ซึ่งมีคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำได้ดี ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น โดยกรดไฮยาลูรอนิกเป็นสารที่ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้เอง โดยพบได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง เส้นเอ็นต่าง ๆ แต่ปัญหาคือกรดไฮยาลูรอนิกมีราคาค่อนข้างแพง จึงมีการลักลอบใช้ผลิตภัณฑ์ปลอมในสถานเสริมความงามบางแห่ง ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ว่า มีกรดไฮยาลูรอนิกจริงตามที่อ้างไว้ ดังนั้น สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้พัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ปฏิกิริยาคาร์บาโซล เพื่อใช้เป็นวิธีตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมความงามชนิดฉีดที่มีการระบุว่ามีกรดไฮยาลูรอนิกเป็นส่วนประกอบ
นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ได้รับจำนวน 27 ตัวอย่าง ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 5 ตัวอย่าง และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน 22 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมความงามชนิดฉีดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตรวจพบกรดไฮยาลูรอนิกร้อยละ 100 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตรวจไม่พบกรดไฮยาลูรอนิกตามที่กล่าวอ้างไว้ถึงร้อยละ 27.3 แสดงให้เห็นว่า สถานเสริมความงามบางแห่งในประเทศไทยมีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามชนิดฉีดที่ไม่มีกรดไฮยาลูรอนิกเป็นองค์ประกอบตามที่ระบุในฉลาก ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพนอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ยังอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคควรใช้บริการจากสถานเสริมความงามที่ถูกกฎหมาย และใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามชนิดฉีดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. อย่างถูกต้องเท่านั้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่