แพทย์เผยชายไทยปรึกษาเซ็กซ์เสื่อมมากขึ้น อายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ พบอายุน้อยสุด 18 ปี “น้องชายไม่แข็งตัว” เผยพักผ่อนน้อย นอนดึก สูบบุหรี่ โรคเรื้อรังต้นเหตุหลัก พบคนสังคมเมืองมากกว่า แนะสังเกตอาการเคารพธงชาติไม่ปกติ อ่อนตัวเร็ว แข็งไม่นาน บ่งชี้มีปัญหา รีบพบแพทย์หาสาเหตุวิธีรักษา ย้ำยาเพิ่มการแข็งตัวไม่ใช่ทางรักษาเดียว
วันนี้ (26 ก.พ.) นพ.สืบพงษ์ เอ่งฉ้วน แพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ แพทย์เวชศาสตร์ชลอวัยด้านสมรรถภาพทางเพศ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวในงาน “พูด...ชัด ๆ อาการนกเขาไม่ขัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่” ว่า ปัจจุบันเพศชายพบปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (ED : Erectile Dysfunction) เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า ในปี 2538 มีเพศชายประสบปัญหานี้ 152 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 170 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเอง พบว่า มีเพศชายมาปรึกษาเรื่องอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 50 และพบแนวโน้มอายุเฉลี่ยที่น้อยลง ซึ่งเดิมทีจะอยู่ที่ประมาณอายุ 50 - 60 ปี ซึ่งเป็นการเสื่อมตามวัย แต่กลับพบในคนอายุน้อยลง โดยอายุน้อยที่สุด คือ อายุ 18 ปี เนื่องจากนอนหลับพักผ่อนน้อยมาก หรือแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ซึ่งจากการตรวจระดับฮอร์โมน พบว่า ฮอร์โมนเพศชายต่ำมาก จึงรักษาด้วยการปรับฮอร์โมน เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายจะถูกสังเคราะห์ตอนที่หลับสนิท เมื่อหลับสนิทเพียงพอ ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น ความแข็งตัวก็จะกลับมาเป็นปกติ
นพ.สืบพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการพักผ่อนน้อยและนอนดึกแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย ได้แก่ การทำงานหนักเกินไป สูบบุหรี่ รับประทานอาหารขยะ นอกจากนี้ โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ก็ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ โดยประมาณ 60% ของเพศชายที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย โดยพบว่าภาคกลางนั้นมีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุด โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่เหน็ดเหนื่อยจากความเครียดในการทำงาน และนอนพักผ่อนน้อย
“การสังเกตอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น สามารถประเมินได้ด้วยตนเอง อย่างที่ผู้ชายเรียกว่าการผิดกลิ่น เช่น ในตอนเช้าอวัยวะเพศชายไม่เคารพธงชาติเหมือนเคย ปัสสาวะลำบาก การแข็งตัวไม่ดี ไม่นาน อ่อนตัวเร็ว น้ำเชื้อน้อยลง มีความต้องการทางเพศแต่อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว เป็นต้น ซึ่งการแข็งตัวของผู้ชายแบ่งเป็น 4 ระดับ หากยังแข็งตัวประหนึ่งแตงกวา ก็ไม่มีปัญหา รองลงมาคือ แข็งตัวเหมือนกล้วยยังไม่ปอกเปลือก กล้วยปอกเปลือกแล้ว และเต้าหู้ ซึ่งถ้าไม่แข็งตัวถึงระดับนี้ถือว่ามีปัญหามากแล้ว ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวและทำการรักษา” นพ.สืบพงษ์ กล่าว
นพ.สืบพงษ์ กล่าวว่า การรักษามีตั้งแต่การปรับพฤติกรรมในคนที่ยังเป็นไม่มาก เพื่อดูว่าเมื่อปรับการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บางรายก็กลับมาเป็นปกติได้ แต่บางรายเกิดจากฮอร์โมนผิดปกติก็รักษาด้วยยาปรับฮอร์โมน ไปจนถึงการรักษาด้วยยาช่วยการแข็งตัว หรือการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ใช่จะต้องกินยาเพิ่มการแข็งตัวเสมอไป เพราะสาเหตุที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนความเชื่อที่ว่ามีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพเร็วนั้น ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่การมีเพศสัมพันธ์บ่อยก็เหมือนการออกกำลังกาย ทำให้ควบคุมการหลั่งได้ดีกว่าคนที่ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์ เพราะการที่สมรรถภาพทางเพศจะเสื่อมหรือไม่นั้นเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพมากกว่า หากดูแลสุขภาพให้ดี แข็งแรง แม้จะอายุ 90 ปี ก็ยังสามารถใช้การได้ นอกจากนี้ ขอย้ำว่า ปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย และไม่ควรมองข้าม เมื่อสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการดังกล่าวขอให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลกระทบการใช้ชีวิตคู่ในครอบครัวได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่