xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “แผ่นหยกให้ความร้อน” อ้างขับสารพิษ โฆษณาเกินจริง ระวังเสี่ยงไฟดูด กระตุ้นโรครุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เตือน “แผ่นหยกให้ความร้อน” อ้างเร่งขับสารพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด ภูมิคุ้มกัน ใช้ได้ในผู้ป่วยสารพัดโรค โฆษณาเกินจริง ชี้ไร้ข้อมูลยืนยันสนับสนุน ซ้ำร้ายเสี่ยงไฟดูด กระตุ้นโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงทางสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ล่าสุดพบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ “แผ่นหยกให้ความร้อน” ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ แผ่นรองนั่งหรือนอน หมอน เตียงนอน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาศัยกระแสไฟฟ้าในการให้ความร้อน สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิ หรือสามารถปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดได้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้อวดอ้างจากหยกเป็นสารทัวร์มาลีน (Tourmaline) หรือ แร่เจอร์มาเนียม (Germanium) โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถช่วยเร่งการขับสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต หรือแม้แต่โรคมะเร็ง

“ข้อความต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อความที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทั้งสิ้น เพราะจากฐานข้อมูลการขออนุญาตด้านเครื่องมือแพทย์ ของ อย. เกี่ยวกับแผ่นหยกให้ความร้อน ไม่พบข้อมูลที่มีสรรพคุณหรือข้อบ่งใช้และประโยชน์ใด ๆ ดังที่มีการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณดังกล่าว ที่สำคัญ ยังอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากผลของความร้อนโดยคาดไม่ถึง เช่น กระตุ้นให้ภาวะของโรครุนแรงมากขึ้น และยังอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากผลของกระแสไฟฟ้า เช่น ไฟดูดจากไฟรั่วหรือลัดวงจร การเกิดเพลิงไหม้หรืออันตรายที่เกิดจากการใช้อย่างผิดวิธี ตลอดจนเกิดภาวะผื่นแดงหรืออาการแพ้ต่าง ๆ ได้” ภก.วินิต กล่าว

ภก.วินิต กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือ อาการบาดเจ็บของมนุษย์นั้น จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 หากจะผลิต หรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการขออนุญาตขึ้นอยู่กับว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ระดับใด เพื่อความปลอดภัยในการใช้ต่อผู้บริโภค ที่สำคัญการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ต้องไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ห้ามนำเข้า หรือขายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2549 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และหากโฆษณาเท็จหรือเกินจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ขอย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าได้หลงเชื่อคารมผู้ขาย ก่อนซื้อก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ควรสังเกตและพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ตรวจสอบโฆษณาของสินค้านั้น ๆ อยู่เสมอว่าเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสนับสนุนหรือไม่ ควรพิจารณาหลักความเป็นจริงควบคู่ไปกับผลจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น เพราะหากหลงเชื่อซื้อมาใช้โดยที่ไม่ศึกษาข้อมูล อาจทำให้สูญเสียโอกาสและเวลาในการบำบัดรักษาโรคให้หายขาดได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็น” ภก.วินิต กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น