ผอ.สถาบันประสาทฯ เผยพบผู้ป่วย “ลมชัก” ดื้อยารักษามากขึ้น พบถึง 50% ชี้ หากดื้อยาเกิน 2 ตัว ต้องผ่าตัดรักษาแทน ย้ำปฐมพยาบาล “ลมชัก” ห้ามใช้สิ่งของอุดปาก เสี่ยงหลุดเข้าหลอดลม ปอดติดเชื้อตาย เตือนชักเกิน 5 นาที รีบนำส่ง รพ. เสี่ยงอันตรายต่อสมอง
วันนี้ (10 ก.พ.) นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวในงานวันโรคลมชักโลก ว่า โรคลมชัก เกิดจากสมองที่ผลิตกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นสมองผิดปกติ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เกร็งกระตุกเหม่อลอย ทำอะไรไม่รู้ตัว เป็นต้น เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง เนื้อสมองผิดปกติแต่กำเนิด การบาดเจ็บของสมองจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม และการได้รับสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันส่วนใหญ่พบผู้ป่วยที่เกิดจากการไม่ทราบสาเหตุมากที่สุด อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 20 - 50 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะวิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้นทำให้ตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักมักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 - 6 เท่า แต่หากได้รับการรักษา ร้อยละ 70 - 90 สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่ต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง
นพ.อุดม กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคลมชักมักพบใน 2 ช่วงวัย คือ วัยเด็ก 0 - 15 ปี แต่ถ้านับผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 20 ปีลงมา พบสูงถึงร้อยละ 70 โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ พันธุกรรม และอุบัติเหตุ และวัยสูงอายุ พบได้ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย และอุบัติเหตุ การได้รับสารบางอย่าง เป็นต้น สำหรับการรักษามีทั้งการรับประทานยา และการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อต่อยารักษามากขึ้น โดยหากเป็นสถิติโดยเฉลี่ยในโรงพยาบาลต่าง ๆ พบได้ร้อยละ 30 ส่วนสถิติการดื้อยาที่สถาบันฯ พบได้ร้อยละ 50 สาเหตุที่พบเยอะเป็นเพราะสถาบันเป็นหน่วยที่รับส่งต่อผู้ป่วยระบบประสาทมาจากทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะดื้อต่อยารักษาโรค 2 ตัวขึ้นไปแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
“การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำให้ถูกวิธี ที่ผ่านมาพบว่าการเอาช้อน หรือสิ่งของต่าง ๆ ไปงัดปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นตัวเองนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเอาสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากผู้ป่วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการสำลัก อาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ หลุดลงไปในหลอดลม เกิดการอุดตัน เกิดแผล เกิดติดเชื้อ โดยเฉพาะในปอดทำให้เสียชีวิตได้ วิธีที่ถูกต้องคือ การจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง คลายเสื้อผ้าให้หลวม อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท” นพ.อุดม กล่าวและว่า นอกจากภาวะชัก เกร็งกระตุกแล้วยังต้องระวังกลุ่มผู้ป้วยที่มีอาการชักเหม่อด้วย เพราะคนไม่ค่อยทราบ หากผู้ป่วยมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น ว่ายน้ำ แล้วเกิดจมลงเฉย ๆ หมดสติขณะขับรถ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกับเครื่องจักจะต้องระมัดระวังอย่างมาก หรือควรหลักเลี่ยงกิจกรรมเหล่านี้เลย
ด้าน พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยที่โรคลมชักที่อาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุกนานประมาณ 2 นาที หากนานถึง 5 นาที ญาติจะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชักต่อเนื่องไม่หยุด เกิดภาวะสมองบวม ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ต้องนอนโรงพยาบาลนาน เมื่อฟื้นขึ้นมาก็ไม่เป็นปกติ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่