xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเสี่ยง “โรคซิกา” ระบาดน้อย รู้ไม่ลึกต้องศึกษาเพิ่ม ชี้ “ไข้เลือดออก” น่ากลัวกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เผย ไทยเสี่ยง “ซิกา” น้อย - ปานกลาง แต่ห้ามประมาท ต้องเร่งศึกษาทำความเข้าใจมากขึ้น ประสานกรมแพทย์เร่งทำแนวทางดูแลผู้ป่วยซิกา ชี้ “ไข้เลือดออก” น่ากลัวกว่า เหตุคนป่วยตายมาก จ่อชง “บิ๊กตู่” ร่วมคิกออฟกกำจัดลูกน้ำยุงลาย 9 ก.พ. นี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญสมองระบุเส้นประสาทอักเสบเข้าข่ายซิกา ต้องเฝ้าระวัง แต่รับวินิจฉัยยาก

วันนี้ (4 ก.พ.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ และประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ด้านแมลงนำโรค ด้านโรคติดเชื้อ และด้านห้องปฏิบัติการวินิจฉัย ว่า วันนี้ได้มีการหารือใน 3 ประเด็น คือ 1. ภาพรวมในการจัดการโรคติดต่อกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ที่มียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไข้เหลือง และโรคเวสต์ไนล์ 2. ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังที่จำเป็นสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3. ประเด็นวิชาการที่ควรหารือเพื่อพัฒนาต่อในเรื่องฟลาวิไวรัส

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จากการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง แต่ก็ไม่ประมาท เพราะประเทศที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ก็เคยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยถึงปานกลางเช่นกัน ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดแบบปุบปับ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวลด้อม จึงต้องมีการศึกษาให้มากขึ้น ส่วนการดูแลผู้ป่วยโรคซิกาในคนทั่วไปนั้น ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย ส่วนการแพร่เชื้อไวรัสซิกาผ่านทางเพศสัมพันธ์มีรายงานมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ไม่ใช่วิธีการติดต่อหลักที่น่ากังวล เพราะสามารถสวมถุงยางอนามัยป้องกันได้ ที่น่ากังวลกว่าคือยุงพาหะ เพราะก่อให้เกิดการระบาดได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม โรคที่น่ากังวลกว่าซิกาคือโรคไข้เลือดออก เพราะมีความรุนแรงสูง โดยปี 2558 มีผู้ป่วยประมาณ 1.4 แสนคน และเสียชีวิตกว่า 100 ราย ขณะซิกาทั่วโลกมีรายงานผู้เสียชีวิตน้อย และไทยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การปราบยุงลาย เพราะป้องกันได้ทั้ง 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย โดย รมว.สาธารณสุข จะเสนอนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ก.พ. นี้ เพื่อดีเดย์กำจัดยุงลายร่วมกัน ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาด

“โรคซิกาเพิ่งระบาดไม่นาน จึงยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับโรค จำเป็นต้องศึกษาวิจัยอีกมาก โดยในระยะแรก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมควบคุมโรคจะจัดหาทุนวิจัยและกำหนดคำถามวิจัย อาทิ อุบัติการณ์ด้านระบาดวิทยาของโรคทั้งในคน และยุงพาหะ อุบัติการณ์ด้านความเชื่อมโยงของมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาและความผิดปกติแต่กำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด การพัฒนาศักยภาพด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันควบคุมโรค เป็นต้น” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มอาการทางระบบประสาท เป็นกลุ่มอาการที่เข้าข่ายโรคซิกาได้ จึงต้องเฝ้าระวังด้วย เพราะไวรัสซิกาเป็นไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัส ซึ่งไวรัสในกลุ่มนี้หลายตัวก็ทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบ เช่น ไวรัสเดงกีของโรคไข้เลือดออก ไวรัสเจอีโรคไข้สมองอักเสบ การที่ซิกาจะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเช่นเดียวกับพี่น้องกลุ่มอื่นในตระกูลฟลาวีไวรัส จึงเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม อาการเส้นประสาทอักเสบนั้นเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันแปรปรวน รวมไปถึงการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งอาการจะคล้ายกันทำให้แยกได้ยาก แต่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยพบว่าจะเกิดจากภูมิคุ้มกันแปรปรวน ส่วนเกิดจากการติดเชื้อที่พบมากที่สุด คือ พิษสุนัขบ้าน โดยร้อยละ 30 ทำให้แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาต และเสียชีวิต เนื่องจากหายใจเองไม่ได้ รองลงมา คือ ไวรัสเดงกี โดยร้อยละ 0.5 จะไม่มีอาการแบบไข้เลือดออกทั่วไป แต่จะมีอาการเส้นประสาทอักเสบ แขนขาอ่อนแรง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประสานไปทางสมาคมประสาทวิทยา และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเส้นประสาทอักเสบว่า เกิดจากการติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันแปรปรวน ซึ่งแต่ละสาเหตุจะรักษาแตกต่างกัน หากเป็นเพราะภูมิคุ้มกันแปรปรวนจะเป็นการให้สารสกัดจากน้ำเหลือง แต่หากเกิดจากการติดเชื้อก็จะรักษาอีกแบบ หรือแม้กระทั่งหากเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ก็เช่นกัน โดยจะมีการจัดทำแนวทางการวินิจฉัยกลุ่มอาการดังกล่าว เบื้องต้นหากพบอาการทางระบบประสาทอักเสบ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายซิกา ทั้งมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ มีผื่นขึ้น ตาแดง ให้สงสัยว่าเข้าข่ายเกิดโรคดังกล่าว และรีบเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการทันที

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 8 ก.พ. นี้ จะเชิญตัวแทนแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ รพ.เอกชน กลุ่มโรงเรียนแพทย์ มาประชุมเพื่อพัฒนาแนวเวชปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยซิกา และถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้รวดเร็วขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น