อย. ยันไม่เคยอนุญาตขึ้นทะเบียนยาสลายไขมัน ระบุ เป็นการใช้ยาไม่เป็นตามข้อบ่งชี้ แพทย์ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบหากเกิดอันตราย
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการฉีดสลายไขมันส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีการโฆษณาว่าฉีดสลายไขมันเฉพาะจุดได้ ว่า อย. ไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาใด ๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน ส่วนการใช้ยาหรือสารอื่น ๆ เพื่อสลายไขมันนั้น จัดเป็นการใช้ยาที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้ยา แพทย์ผู้ใช้ยาหรือสารใด ๆ กับผู้ป่วย มีจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพเป็นเครื่องกำกับอยู่ ตามหลักแล้วก็ต้องใช้ยาตามสรรพคุณของยาที่ได้รับการอนุมัติ ส่วนที่จะอ้างว่าเป็นการปรุงยาเพื่อใช้กับผู้ป่วยเฉพาะรายในสถานพยาบาลนั้น แพทย์ หรือผู้ใช้ยาดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลจากการใช้ยาดังกล่าว เพราะการใช้ยาหรือสารใด ๆ จะถูกควบคุมด้วย พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 หากมีการร้องเรียนหรือผลกระทบจากการใช้ยาไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการใช้วิตามินซี หรือ สารแอลคานีทีน มาฉีดเพื่อหวังผลในการสลายไขมันนั้น ก็คล้ายกับกรณีการใช้สารกลูตาไธโอน มาฉีดเพื่อให้มีสีผิวขาว แต่ความจริงแล้ว อย. ไม่เคยขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวเพื่อการทำให้ผิวขาว แต่ขึ้นทะเบียนเพื่อกำจัดพิษของโลหะหนัก พิษจากแคดเมียม พิษจากตะกั่ว พิษจากปรอท เป็นต้น และใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งการใช้กลูตาไธโอน เพื่อทำให้ผิวขาวจึงเป็นกรณีตัวอย่างในการใช้ยาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งแพทย์ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบหากใช้แล้วเกิดอันตราย หรือผลกระทบกับผู้ป่วยขึ้น ปัจจุบัน อย.ดูแลในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของยา ส่วนเรื่องการใช้ยาหากมีการกระทำผิดก็จะเป็นหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และแพทยสภา ที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการรักษา และจริยธรรมของแพทย์ผู้ใช้ยา
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่