xs
xsm
sm
md
lg

คุมสถานพยาบาลอุ้มบุญ พบทำได้ 63 แห่งทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สบส. คุมเข้มสถานพยาบาลอุ้มบุญ เผยทั่วประเทศทำได้ 63 แห่ง แพทยสภาคลอดประกาศควบคุม กำหนดแพทย์ต้องมีวุฒิบัตร มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและจริยธรรม หญิงรับตั้งครรภ์ต้องเคยมีบุตรมาแล้ว หากฝ่าฝืนมีโทษหนัก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (พ.ร.บ.อุ้มบุญ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2558 สบส. ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัย และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องดำเนินควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาล เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการให้การบำบัดรักษาช่วยให้สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรยากให้มีบุตรได้ มิให้นำไปแสวงประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ให้บริการอุ้มบุญ 63 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ที่ จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง ที่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี ภาคใต้ 5 แห่ง ที่ จ.สงขลา จ.ภูเก็ต และ จ.นครศรีธรรมราช ภาคตะวันออก 1 แห่ง ที่ จ.ชลบุรี และภาคกลาง 45 แห่ง ที่ กทม. จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะนี้แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา เรื่องมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2558 เป็นต้นมา กำหนดให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุมดูแลและรับผิดชอบตาม 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. มีบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพให้บริการ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะแพทย์ที่ให้บริการจะต้องได้รับวุฒิบัตรจากแพทยสภาหรือราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ 2. มีสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์พร้อม

3. มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและจริยธรรม รับผิดชอบไม่น้อยกว่า 4 คน ประกอบด้วยสูตินรีแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ พยาบาล และตัวแทนฝ่ายบริหารให้รายงานผลการประชุมต่อกรมสบส.ทุกปี ในกรณีที่การตั้งครรภ์แทนและใช้ไข่บริจาคต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้ทุกราย และต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยการอุ้มบุญก่อน 4. มีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการอุ้มบุญตามที่กำหนด ทั้ง 3 ฝ่าย คือผู้รับบริการ ผู้ตั้งครรภ์แทน ผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ และเก็บรักษาเอกสารไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี กรณีการรับตั้งครรภ์แทนซึ่งหญิงที่รับต้องเป็นผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วและเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สามีหรือภรรยาที่มีบุตรยากเท่านั้น รวมทั้งการตั้งครรภ์ที่เกิดจากไข่หรืออสุจิหรือตัวอ่อนบริจาคต้องเก็บรักษาเอกสารไม่น้อยกว่า 20 ปี นับตั้งแต่วันที่เด็กคลอดและอยู่รอดเป็นทารก และ 5. หนังสือแสดงความยินยอม 3 ฝ่ายคือ ผู้รับบริการ ผู้ตั้งครรภ์แทน ผู้บริจาคไข่หรืออสุจิลงนามโดยสมัครใจ ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกทางการแพทย์ และให้เก็บรักษาฝ่ายละ 1 ชุด

“หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทความผิด เช่น หากใช้แพทย์ที่ไม่มีวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองจากแพทยสภา หรือราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีที่มีการนำอสุจิ ไข่ ตัวอ่อนหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์ดังกล่าวใส่เข้าไปในร่างกายของสัตว์ หรือนำเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์ ไปใส่ในร่างกายมนุษย์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท ทั้งนี้หากสถานพยาบาลใดจะขอเปิดบริการอุ้มบุญ สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ หากอยู่ใน กทม. ยื่นขอได้ที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ” อธิบดี สบส. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น