สพฉ.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ปีใหม่ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของสายด่วน 1669 และขั้นตอนการแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ย้ำ 9 ข้อควรรู้ก่อนโทร.สายด่วน 1669
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงในอีกไม่กี่วันนี้นอกจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะออกมารณรงค์ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย และรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบขั้นตอนการใช้งานและการไม่โทรป่วนสายด่วน 1669 แล้วเรายังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการทำงานของระบบปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายด้วย
โดยสื่อประชาสัมพันธ์ที่เราได้จัดทำขึ้นนี้จะมีเนื้อหาในหลากหลายเรื่อง อาทิ การอธิบายถึงการช่วยชีวิตของประชาชนผ่านระบบปฏิบัติการการช่วยชีวิตการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเมื่อประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติให้รีบโทรขอรับบริการสายด่วน 1669 ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำจังหวัดจะรีบประสานให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัยตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้รีบเข้าให้การช่วยเหลือเพื่อนำผู้ป่วยส่งไปรักษายังโรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ในสื่อประชาสัมพันธ์ยังได้อธิบายถึงการแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ส่งผลต่อชีวิตและอวัยวะสำคัญที่ต้องโทรขอรับบริการสายด่วน 1669 อย่างเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วยอาการต่างๆ เหล่านี้ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2. การรับรู้สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดเฉียบพลัน 3. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อยสองข้อดังนี้ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกท่วมตัว หมดสติชั่ววูบหรือวูบเมื่อลุกขึ้นหรือยืน 4. ระบบหายใจมีอาการวิกฤตดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปรกติ หายใจเร็วแรงและลึก หายใจมีเสียงดังผิดปรกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก หรือออกเสียงไม่ได้ สำลัก อุดทางเดินหายใจและมีอาการเขียวคล้ำ 5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมากเสี่ยงพิการ 6. อาการอื่น ๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่นเจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด หรือชักเกร็ง
ทั้งนี้ สื่อประชาสัมพันธ์ชุดนี้ยังได้แนะนำถึง 9 ข้อควรรู้ก่อนโทรขอรับบริการสายด่วน 1669 ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ 1. เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 3. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 4. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 5. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 6. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก็ส 7. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 8. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 9. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามสื่อประชาสัมพันธ์ชุดนี้ยังมีรายละเอียดในเรื่องการช่วยชีวิตฉุกเฉินอีกหลากหลายเรื่อง อาทิ เทคนิคการช่วยชีวิตฉุกเฉินเช่นการห้ามเลือด การแนะนำถึงการเตรียมกล่องปฐมพยาบาลฉุกเฉินที่จำเป็นจะต้องใช้เมื่อยามเดินทาง วิธีในการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน การแนะนำถึงการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) การแนะนำถึงการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานซึ่งประชาชนที่สนใจสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติชุดนี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.niems.go.th
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่