xs
xsm
sm
md
lg

พบกว่า 50% เคยหลับขณะขับรถ แนะจอดรถนอน 10-15 นาทีช่วยร่างกายสดชื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอชี้ “หลับใน” ทำสมองไม่รับรู้ หู ตา มือเท้าไม่ทำงาน รถวิ่งเร็วเสี่ยงตายสูง 100% พบ 28-53% เคยหลับขณะขับรถ แนะสังเกตตัวเอง จอดรถหลับ 10-15 นาที ช่วยร่างกายกลับมาสดชื่น

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ง่วงหลับใน มหันตภัยบนถนน ที่สังคมไทยต้องรับรู้” ในการประชุมระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ว่า อาการหลับใน คือการหลับตื้นๆ ไม่เกิน 10 วินาที แต่ทำให้สมองไม่รับรู้ หูไม่ได้ยิน ตาไม่เห็น มือเท้าไม่ขยับ คลื่นสมองเปลี่ยนจากตื่นเป็นหลับ โดยพบว่าอาการหลับในแบบนี้ หากเกิดขึ้นเพียง 4 วินาทีในขณะที่รถวิ่ง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจะเคลื่อนที่ไป 100 เมตร โดยที่คนขับไม่รู้ตัว ซึ่งแรงปะทะที่การชนในระดับความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะเท่ากับการตกตึก 10 ชั้น โอกาสจะเสียชีวิตสูงถึง 100%

นพ.มนูญกล่าวว่า จากการศึกษาของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่ได้สำรวจคนขับรถหลายประเภท ผ่านแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 28-53 เคยหลับขณะขับรถมาแล้ว และสาเหตุในการง่วงแล้วขับรถที่พบบ่อยที่สุด คือ อดนอน นอนไม่พอ สาเหตุอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การกินยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ รวมไปถึงโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งอาการหลับในจะมีสัญญาณเตือน เช่น หาวนอนไม่หยุด ลืมตาไม่ขึ้น บังคับรถให้อยู่ในเลนลำบาก จิตใจล่องลอยไม่มีสมาธิ ที่สำคัญที่สุดจำไม่ได้ว่าเพิ่งขับผ่านอะไรมา โดยความง่วงที่ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้เกิดอาการหลับในได้ในที่สุด ถ้ามีสัญญาณเหล่านี้ คนขับต้องรีบจอดรถในที่ปลอดภัยและหลับ 10-15 นาที ถือเป็นระยะที่ทำให้ร่างกายกลับมาสดชื่นเหมือนเดิมได้

ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ฉะนั้น กรมการขนส่งทางบกควรออกกฎหมายบังคับพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ขับรถได้วันละไม่เกิน 10 ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 60 ชั่วโมง และมีวันหยุด 1 วัน ต้องหยุดพักรถทุก 2 ชั่วโมง และบรรจุความรู้การป้องกันอันตรายจากการง่วงแล้วขับในใบขับขี่ รวมทั้งกรมทางหลวงต้องสร้างที่พักริมทางสำหรับรถบรรทุกใหญ่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายของการง่วงหลับในอย่างต่อเนื่อง” นพ.มนูญกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น