โดย... พญ.มณินทร วรรณรัตน์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ซนมากผิดปกติ เรียนรู้อะไรได้ช้า อาการเหล่านี้คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนใดปรารถนาให้เกิดกับลูกน้อยอย่างแน่นอน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ เด็กทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น หากลูกของคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ “นอนกรน”
ภาวะนอนกรนในเด็ก (Snoring Children) เสียงกรนเล็กๆ ที่กลายเป็นปัญหาหนักอกของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ทางการแพทย์ยืนยันว่า ภาวะนอนกรนในเด็กส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสติปัญญาของลูกน้อย หากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจมีอันตรายถึงชีวิต
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กที่มีนอนกรน คือ เด็กมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต จนเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เกิดการสั่นสะเทือนของโครงสร้างระบบทางเดินหายใจ คือลิ้นไก่และเพดานอ่อนจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น หรือเกิดอาการแน่นจมูกเรื้อรัง เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือในรายมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จะมีไขมันรอบคอมาก ขณะหลับกล้ามเนื้อจะหย่อนตัว ไขมันรอบคอจะไปกดทางเดินหายใจมากขึ้นก็ทำให้เกิดเสียงกรนได้เช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าลูกมีภาวะนอนกรนที่เป็นอันตรายหรือไม่ เช่น เมื่อลูกหลับแล้วมีเสียงกรนดังเป็นประจำหรือไม่ เสียงนอนกรนขาดๆ หายๆ มีอาการหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ มีอาการเขียวรอบปากหรือริมฝีปากคล้ำขณะหลับ นอนหายใจอกบุ๋มท้องโป่ง หรือในตอนกลางวันมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติเหมือนนอนไม่พอ หงุดหงิดง่าย ซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น หรือปัสสาวะรดที่นอนหลังอายุ 5 ปี อาการเช่นนี้แสดงว่าลูกของคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโรคนี้ โดยการสังเกตที่ถูกต้อง ควรสังเกตในช่วงครึ่งตื่นหลัง โดยเฉพาะช่วงใกล้รุ่ง 02.00-05.00 น. เพราะเป็นช่วงหลับลึกและแนะนำให้ถ่ายคลิปวิดีโอพร้อมอัดเสียงเมื่อมาพบแพทย์
ปัจจุบันทางการแพทย์มีแนวทางตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้นอนกรน เช่น เด็กมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ เป็นโรคจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ หากอาการไม่ชัดเจนและคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าลูกมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อยืนยันว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และอาการรุนแรงมากแค่ไหน
สำหรับวิธีการรักษา หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุและความรุนแรงของการนอนกรนแล้ว แพทย์จะให้การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น รักษาภูมิแพ้จมูกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ที่โตผิดปกติในเด็กโดยการผ่าตัดรักษา หรือการใช้เครื่องเป่าอากาศขณะหลับ ที่มักใช้ในการรักษาในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนในเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลย หากพบว่าลูกมีอาการนอนกรน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อพัฒนาการที่ดีเยี่ยมของลูกน้อย จะได้ไม่มีฝันร้ายมาทำลายให้สะดุดลง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่