xs
xsm
sm
md
lg

“โรคนอนกรน” มหันตภัยร้าย โรคระบบประสาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...พ.อ.พิเศษ ดร.น.พ.โยธิน ชินวลัญช์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

การนอนหลับเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของมนุษย์ ที่ทำให้ร่างกายได้พักฟื้นจากความเหนื่อยล้าจากการทำกิจกรรมตลอดวันที่ผ่านมา ดังนั้น หากเราสามารถนอนหลับได้ปกติก็จะมีสุขภาพที่ดี ในทางตรงกันข้าม หากใครที่มีปัญหาการนอน ไม่ว่าจะเป็นการนอนกรน นอนไม่หลับ หรือปัญหาง่วงนอนมากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันได้

มีข้อมูลพบว่าการนอนหลับผิดปกติที่พบบ่อย คือ โรคนอนกรน ประมาณ 40% ของผู้ป่วยทั้งหมด ต่อมาจึงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (30%) ซึ่งคนที่มีภาวะนี้มักเริ่มต้นมากจากอาการนอนกรน

โรคนอนกรน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เนี้อเยื่อในลำคอมากเกินไปจากพันธุกรรมจนทำให้เกิดการสั่นในขณะนอนหลับ การอุดตันในทางเดินหายใจจากผลข้างเคียงของโรคภูมิแพ้ และต่อมทอนซิลโต กล้ามเนื้อหย่อนลงไปจากอายุที่เพิ่มขึ้น โรคอ้วน การดื่มสุรา - ยาบางชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง การสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยสามารถแบ่งการนอนกรนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

1. การนอนกรนธรรมดา เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเวลานอนหลับสนิท กล้ามเนื้อจะคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอด้วย ทำให้ลิ้นและลิ้นไก่ ตกไปทางด้านหลัง โดยเฉพาะในท่านอนหงายทำให้ทางเดินหายใจส่วนนี้ตีบแคบลง เวลาหายใจเข้าผ่านตำแหน่งที่แคบ จะทำให้มีการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อน หรือโคนลิ้น ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นแต่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญให้ผู้ที่อยู่ใกล้

ทั้งนี้ สามารถรักษาได้โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการนอนหงาย การดื่มแอลกอฮอล์ ยานนอนหลับ หรือยากล่อมประสาทก่อนนอน ส่วนการักษาในทางการแพทย์ คือ การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Somnoplasty) เพื่อทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำคอทางเดินหายใจหดตัวลง การใช้แสงเลเซอร์ (Laser Surgery) ผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อในลำคอที่ขวางทางเดินหายใจ รวมไปถึงการใช้เครื่อง Nasal CPAP ให้ช่วยขยายทางเดินหายใจช่วงบนในขณะหลับ ซึ่งจะช่วยลดการหยุดหายใจขณะหลับและทำให้การหยุดหายใจมีความรุนแรงลดลง

2. การนอนกรนที่เป็นอันตราย เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากเวลานอนหลับ จึงทำให้มีเสียงกรนที่ไม่สม่ำเสมอ โดยมีเสียงที่ดังและค่อยสลับกันเป็นช่วง ๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อย ๆ จนมีช่วงหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจที่ทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลง จนอาจก่อให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ และสมอง หากว่าไม่มีลมผ่านจมูกหรือปากตั้งแต่ 10 วินาทีขึ้นไปจะเรียกว่าการหยุดหายใจในขณะหลับ (sleep apnea )

อาการดังกล่าวนี้จะถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นโดยอาการสะดุ้งตื่นโดยการสั่งของสมอง อาจเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง หรือคล้ายการหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน แต่ส่งผลเรื้อรังต่อร่างกาย โดยสามารถพบได้ในเพศชาย ประมาณ 4% และในเพศหญิงประมาณ 2% เฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยกลางคนและคนที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน เป็นต้น

สำหรับการวินิจฉัยที่แม่นยำในปัจจุบัน คือ การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ซึ่งสามารถวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ, ระดับออกซิเจนในเลือด, การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง, คลื่นไฟฟ้า หัวใจและกล้ามเนื้อ รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนและตัดสินใจในการรักษาได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การรักษามีหลากหลายวิธี อาทิ การปรับพฤติกรรมด้วยการลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาจนถึงวิธีทางการแพทย์อย่างการใช้เครื่อง Nasal CPAP ซึ่งให้ผลการรักษาสูงถึง 70% การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม (Oral appliances) ที่ให้ผลการรักษาประมาณ 50% เป็นต้น

การนอนกรนสามารถพัฒนาเข้าสู่ภาวะการหยุดหายใจในขณะหลับ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะการขาดออกซิเจนที่ค่อย ๆ ส่งผลร้ายแก่ร่างกาย และการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย ความสามารถในการจำลดลง คุณภาพชีวิตลดลง ไม่มีสมาธิในการทำงาน และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางระบบประสาท อย่างโรคหลอดเลือดในสมอง หรืออาจจะนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมได้ในอนาคต

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น