xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพบผู้ป่วยโรคเรื้อนใหม่ 155 ราย หวั่นรักษาช้าทำพิการรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เผย ปี 58 พบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในคนไทย 155 ราย พิการรุนแรงที่มองเห็นได้ร้อยละ 13 เหตุเพราะเข้ารับการรักษาช้า พร้อมแนะหากพบผิวหนังเป็นวงด่างขาว หรือแดง ชา ไม่คัน ให้รีบปรึกษาแพทย์

วันนี้ (19 ธ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนไว้ในพระราชดำริ มากว่า 50 ปี โดยในวันที่ 16 มกราคม 2501 และ 2503 ทรงเสด็จพระราชดำเนินนในพิธีวางศิลาฤกษ์และพิธีเปิดอาคาร “สถาบันราชประชาสมาสัย” ดังนั้น วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี จึงถือเป็น “วันราชประชาสมาสัย” เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน การกำจัดโรคเรื้อนและฟื้นฟูสภาพผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน

สำหรับสถานการณ์ของโรคเรื้อนในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2558) พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคเรื้อนที่ขึ้นทะเบียนรักษา 527 ราย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2558 จำนวน 155 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยใหม่ที่มีความพิการที่มองเห็นได้ (พิการระดับ 2) จำนวน 20 ราย หรือร้อยละ 13 ซึ่งจำนวนลดลงกว่าปี 2553 ที่พบรายใหม่ 405 ราย และพิการระดับ 2 จำนวน 60 ราย แต่ยังมีปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ ในผู้ป่วยรายใหม่มีความพิการก่อนมาพบแพทย์รักษา เช่น นิ้วมือนิ้วเท้าหงิก งอ กุด หรือด้วน เปลือกตาปิดไม่สนิทเวลาหลับ สาเหตุเพราะผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่ล่าช้า โดยจะเห็นได้จากข้อมูล 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2553 - 2557) มีผู้ป่วยรายใหม่มีความพิการระดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 10 - 17

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ทั่วโลกไม่เกิน 100 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ในปี 2563 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายกำหนดเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ของประเทศไทย ไม่เกิน 100 ราย และลดอัตราความพิการระดับ 2 ในผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ไม่เกิน 0.3 รายต่อประชากร 1 ล้านคน (20 ราย) ในปี 2563

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการใน 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. การเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ที่มีข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยา และในผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยที่ตกค้างในชุมชนได้รับการค้นพบโดยเร็ว และได้รับการรักษาตามมาตรฐาน ส่งผลให้สามารถลดการแพร่เชื้อโรคเรื้อนในชุมชน และลดการเกิดความพิการระดับ 2 ในผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ และ 2. การพัฒนาเครือข่ายในการฟื้นฟูสภาพผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน โดยการสำรวจความพิการ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความต้องการที่จำเป็นของผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน เพื่อไห้ได้รับการฟื้นฟูสภาพตามความเหมาะสม หรือสามารถพึ่งตนเองได้

นพ.อำนวย กล่าวว่า โรคเรื้อนเป็นโรคผิวหนัง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาป้องกัน แต่มียารักษาที่ให้ผลดี วิธีการเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การตรวจร่างกายให้พบโรคได้เร็วที่สุด จึงขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการผิดปกติที่ผิวหนัง เพราะเชื้อโรคเรื้อนมีระยะฟักตัวนานประมาณ 2 - 12 ปี กว่าจะปรากฏอาการ โดยผิวหนังจะเป็นรอยผื่นวงด่างขาว หรือแดง หรือเป็นตุ่ม นูนแดง ชา หยิกไม่เจ็บ ไม่คัน ขนภายในรอยวงร่วง เหงื่อไม่ออก หากได้รับการรักษาคือกินยาเร็ว ยาเม็ดแรกจะฆ่าเชื้อในร่างกายได้มากถึงร้อยละ 99 ภายใน 3 - 5 วัน จะไม่มีความพิการ และไม่แพร่เชื่อสู่คนอื่น

“หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลายที่หล่อเลี้ยง เช่น บริเวณปลายมือ ปลายเท้า ทำให้เกิดความพิการ ต่ออวัยวะเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่มือ เท้าอ่อนแรง กระดูกนิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูป หงิกงอ นิ้วกุดหรือเท้าเป็นแผลติดเชื้ออักเสบลุกลามจนถึงต้องตัดทิ้ง โรคนี้ใช้เวลารักษานาน 6 เดือนถึง 2 ปี ขี้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดโรค ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง รักษาไม่หายขาดใน 3 เดือน อย่าชะล่าใจ ขอให้พบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยยืนยันและเข้ารับการรักษาต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.อำนวย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น