พบปี 58 จำนวนวันมีหมอกควันเกินมาตรฐานลดลง แต่ความเข้มข้นสูงขึ้นกว่าปี 57 สูงสุดอยู่ที่ 381 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ใน ต.เวียง จ.เชียงใหม่ คาดปี 59 สถานการณ์รุนแรงขึ้น เร่งจับตาเผาอ้อย เผาหญ้า เผาป่า หวั่นสร้างปัญหา ส่ง อสม. ทำความเข้าใจ
วันนี้ (3 ธ.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “มาตรการรับมือผลกระทบจากภาวะหมอกควัน” ว่า สถานการณ์หมอกควันของประเทศไทยในปี 2558 พบว่า พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาก เป็นพื้นที่ที่มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เฉลี่ยสูงสุดในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงสุดของประเทศไทยในรอบ 24 ชั่วโมง คือ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย สูงถึง 381 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าค่ามาตรฐาน คือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุที่ภาคเหนือเกิดปัญหาหมอกควันมากที่สุด เพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท เนื่องจากความกดอากาศสูง มลพิษ จึงวนอยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งในปี 2558 พบผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรครวม 826,247 ราย
นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัญหาของหมอกควันและฝุ่นละอองมีที่มาจาก 3 ส่วน คือ 1. การเผาทำลายวัชพืชเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหามากกว่า 90% ส่งผลกระทบโดยรอบได้มากกว่า 5 กิโลเมตร 2. การก่อสร้าง เกิดแค่บางพื้นที่ ส่งผลระทบได้ประมาณ 1 กิโลเมตร และ 3. การปิ้งย่างข้างทาง เกิดเฉพาะบางพื้นที่เช่นกัน โดยมักพบการทำหมูหัน ไก่หัน ไก่ย่างข้างทาง ตรงนี้ส่งผลกระทบได้ไม่กี่เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณในการปิ้งย่างด้วย แต่ทั้งหมดต้องมีการควบคุมหมอกควัน โดยเฉพาะการเผาทำลายเพื่อการเกษตรเป็นปัญหาหลักและน่าห่วงที่สุด การควบคุมที่ดีที่สุด คือ การห้ามไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้น ซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงไปทำความเข้าใจ และให้ความรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาของการเกิดปัญหาหมอกควัน ส่วนการก่อสร้างต้องมีการคลุมผ้าสีฟ้า เพื่อลดฝุ่นละออง ส่วนการปิ้งย่างควรมีเครื่องดูดควันเพื่อช่วยลดปัญหา
“ ปี 2559 คาดว่า สถานการณ์หมอกควันน่าจะมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากความแล้ง ส่วนที่ต้องเร่งรับมือคือช่วงปลาย ม.ค. - ต้น ก.พ. ที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนมาก โดยช่วงเก็บเกี่ยวมักจะมีการเผาอ้อย เพื่อให้ง่ายต่อการริดใบทิ้งก่อนการใช้เครื่องตัดอ้อย ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบ ซึ่งขณะนี้มีเครื่องตัดอ้อยแบบใหม่ที่ช่วยริดใบ ซึ่งเป็นเครื่องที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นเอง และกำลังมีการส่งเสริมให้ใช้ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาลงไปได้ และพบว่า การเก็บอ้อยโดยไม่มีการเผานั้นจะช่วยให้ได้ปริมาณน้ำตาลมากกว่าการเผา ทั้งนี้ นอกจากให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนและเกษตรกรแล้ว ยังเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลดูแลคนเจ็บป่วย การแจกหน้ากากอนามัย และการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากหมอกควันด้วย ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลหมอกควันของประเทศในปี 2558 พบว่า จำนวนวันที่หมอกควันมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้น มีอยู่ประมาณ 30 กว่าวัน ซึ่งลดลงจากปี 2557 แต่กลับพบว่าปริมาณความเข้มข้นของค่าฝุ่นละอองนั้นสูงกว่าปี 2557 โดยค่าฝุ่นละอองสูงสุดของปี 2558 คือ 381 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 324 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสาหตุนอกจากการเผาเพื่อการเกษตรแล้ว ยังพบปัญหาการเผาหญ้าข้างทาง การเผาป่า ทั้งในพื้นที่ป่าสงวน ลามไปจนถึงป่าธรรมชาติ โดยมีค่าความร้อนในพื้นที่รวม 9,815 ไร่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่