xs
xsm
sm
md
lg

สบส.ยันเดินหน้าแก้ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ด้านผู้บริโภคแปซิฟิกส่งข้อมูลเทียบค่ารักษาให้ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สบส. ยันเดินหน้าแก้ค่ารักษาพยาบาล รพ. เอกชน แพง 3 เรื่อง ทั้งค่ายา ค่ารักษา ช่องทางอำนวยความสะดวก ด้าน 7 องค์กรผู้บริโภคเอเชียแปซิฟิกเห็นชอบ ส่งข้อมูลเทียบค่ารักษาใน รพ. ให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไทยศึกษาปัญหา รพ. เอกชน เก็บค่ารักษาแพง หลังรัฐทำงานไม่คืบ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ออกมาเร่งรัดแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ. เอกชน แพง โดยจะทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีขอให้ รมว.สาธารณสุข เดินหน้าร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกประธานคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง เนื่องจากประธานคนเดิม คือ นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.สธ. สมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ได้ลาออก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ยังคงทำงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. กำหนดราคายาให้ได้มาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมราคายาในแต่ละกลุ่มโรคที่จำเป็น จากตัวโรงงานผู้ผลิตยา จากนั้นจะประสานไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาว่าจะออกประกาศราคายาต่อไป

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า 2. การแสดงรายงานค่ารักษาต่าง ๆ ทั้งค่าหัตถการ ค่าเวชภัณฑ์ ค่าบริการต่าง ๆ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล แต่จะกำหนดเป็นค่ามาตรฐานกลางหรือไม่ อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพราะมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ซึ่งระหว่างนี้ สธ. ได้จัดทำเว็บไซต์รวบรวมค่ารักษาพยาบาลกลุ่มโรคต่าง ๆ ราว 87 รายการ ในกลุ่ม รพ. เอกชน คาดว่า จะจัดทำให้ได้ 100 โรงพยาบาล ขณะนี้ทยอยดำเนินการอยู่ และ 3. อยู่ระหว่างจัดทำระบบข้อมูลการบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนในการสอบถามเข้ามา รวมไปถึงการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาจากการรับบริการของโรงพยาบาลเอกชน  ที่ โทร. 02-193-7999

วันเดียวกัน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  น.ส.สารี ฮ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวความร่วมมือในการทดสอบผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ว่า องค์กรผู้บริโภคภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 7 องค์กร ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน และองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICTR) ประเทศอังกฤษ ได้ประชุมหารือร่วมกันและมีข้อตกลงในการทดสอบสินค้าและบริการที่สำคัญ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง อาหารเสริม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรวบรวมเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ดึงข้อมูลไปใช้ต่อได้ ไม่ต้องเสียทรัพยากรในการทดสอบผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันซ้ำในประเทศของตัวเองอีกรอบ นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอให้มีการทดสอบเรื่องค่ารักษาพยาบาลใน รพ. เอกชน ด้วย เพราะในไทยตอนนี้กำลังมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล รพ. เอกชน แพง ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบและจะสนับสนุนข้อมูลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของในประเทศที่มีการศึกษามาก่อนให้กับไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการศึกษาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้อาจจะไม่ได้ดูเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาล แต่ดูเรื่องของการโฆษณา และการส่งเสริมการขาย

“แม้รัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า มพบ. จึงจะทำการศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลจากฝั่งผู้บริโภค โดยดูว่าค่ารักษาพยาบาลแพงนั้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลที่พบนั้นส่วนหนึ่งมาจากค่ายาที่แพงเกินจริง บางรายการเกินไปถึง 100%” น.ส.สารี กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ตนได้ทำเรื่องขอเข้าพบกับ นพ.ปิยะสกล เพื่อหารือเรื่องนี้อีกทางหนึ่งด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น