xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีเซฟชีวิตเบื้องต้น “จมน้ำ-ถูกประทัด” เทศกาลลอยกระทง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. เตือนลอยกระทงระวัง “จมน้ำ - ประทัดระเบิด” แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระบุ วิธีช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทงมี ดังนี้ 1. อุบัติเหตุจากการตกน้ำ จมน้ำ ซึ่งช่วงเทศกาลลอยกระทงมีประชาชนเสี่ยงตกน้ำ จมน้ำ และเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากความเบียดเสียด ดื่มสุรา รวมถึงการเก็บเศษเงินในกระทง ผู้ปกครองเองควรดูและบุตรหลานของตนเองอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่ใกล้กับแม่น้ำตามลำพัง ส่วนวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำ ต้องคิดถึงความปลอดภัยตัวเองก่อน หากกระโดดลงไปช่วยเหลือเองอาจถูกกอดรัดจนจมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่ วิธีที่ถูกต้องคือตะโกน บอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ โยนวัสดุลอยน้ำให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง เมื่อช่วยได้แล้วให้รีบโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669

หากสังเกตว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจ และช่วยหายใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก ส่วนการช่วยเหลือเด็กจมน้ำนั้น สิ่งที่สำคัญคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะการช่วยเหลือจะยากลำบาก ทั้งนี้ เมื่อนำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วให้รีบนำเด็กวางลงบนพื้นแห้ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพ โดยวางส้นมือไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ กดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็ว 100 - 120 ครั้ง ต่อนาที และไม่มีการหยุด ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

นพ.อนุชา กล่าวว่า 2. อุบัติเหตุจากการจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ เมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือก หรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาด คือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 - 18 ชม.

“หากได้รับบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที และสำหรับการปฐมพยาบาลสำหรับแผลไฟไหม้นั้นให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก โดยห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤต คือ มีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น