xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าตัดสำเร็จรายแรกในไทย “ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว” ด้วยวิธี MitraClip ลดหอบ ไร้อาการแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันโรคทรวงอก เดินหน้า 2 โครงการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ ชี้ วิธี MitraClip ช่วยลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วน้อยลงไม่มีผลแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็วใน 1 สัดาห์ อาการหอบน้อยลงนอนราบได้ ผ่าตัดสำเร็จรายแรกในไทย เตรียมผ่าตัดให้ครบ 4 ราย ตามเป้าหมาย  

วันนี้ (23 พ.ย.) ที่สถาบันโรคทรวงอก   นพ.สุพรรณ  ศรีธรรมมา  อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความก้าวหน้าโครงการมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 4 ของโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในไทย และพบจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ในปี 2553 - 2557 มีผู้ป่วยนอกเข้ามารับการรักษาจำนวน 1,024,148 ครั้ง เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจเข้ารับบริการ 592,893 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยในมีจำนวน 55,423 ราย เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ 34,103 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ จำนวน 4,390 ราย ซึ่งการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องพร้อมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สถาบันฯ จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1. โครงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออติค ผ่านทางสายสวนหัวใจ หรือ TAVI เป็นการใส่ลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปสวมทับลิ้นหัวใจเดิมโดยใช้สายสวนผ่านเส้นเลือดแดงใหญ่ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้าย ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เสียเลือดน้อย แผลเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม การพักฟื้นเร็วประมาณ 2 - 3 วัน และ 2. โครงการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ MitraClip เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว  โดยใช้ Clip ผ่านสายสวนเข้าไปหนีบบริเวณช่องว่างระหว่างลิ้นหัวใจไมตรัลที่รั่ว ขณะทำจะมีการใช้เครื่องตรวจคลื่นหัวใจด้วยเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านหลอดอาหาร  เพื่อความแม่นยำและให้ได้ผลการรักษาที่ดี จากการศึกษาวิธีการรักษาด้วย MitraClip  ทั่วโลก พบว่า การใช้ clip 1 - 3 ตัว สามารถลดความรุนแรงของอาการลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วได้อย่างมาก  ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวดีขึ้น

“การรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วยวิธีนี้ พบว่า อัตราการเสียชีวิตมีร้อยละ 0.9 - 4 อัตราการเสียชีวิตที่ 30 วัน ประมาณร้อยละ 0.7 - 8 ผลแทรกซ้อนอื่น ๆ น้อยกว่าร้อยละ 5 และมีระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 3 - 5 วัน ความก้าวหน้าของทั้ง 2 โครงการ เป็นที่น่าพอใจของคณะแพทย์ ผลการรักษาผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการทุกรายได้ผลดี ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะเจ็บปวดแผลที่น้อยลง ลดความเสี่ยงในการรักษา และภาวะแทรกซ้อน โดยทั้ง 2 โครงการดำเนินการในห้อง Hybrid OR ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดที่ทันสมัยใช้ในการทำสายสวนทางหลอดเลือดร่วมกับการผ่าตัดทั่วไป” นพ.สุพรรณ กล่าว

พญ.วิพรรณ  สังคหะพงศ์  ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า   โครงการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ MitraClip มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการและได้รับการรักษาแล้วจำนวน  1 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 ราย  ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยที่ใช้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ผลการรักษาพบว่าการรั่วของลิ้นหัวใจไมตรัลจากระดับที่รุนแรง เป็นการรั่วที่น้อยมาก ผู้ป่วยอาการเหนื่อยดีขึ้นมาก ไม่มีผลแทรกซ้อน และสามารถกลับบ้านไปได้หลังทำหัตถการ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยได้มาตรวจติดตามที่ 1 เดือน พบว่าอาการเหนื่อยลดลง นอนราบได้ และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจซ้ำพบว่าอุปกรณ์ MitraClip อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม  ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะดำเนินให้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  และจะนำผลที่รักษาผู้ป่วยไปพัฒนาต่อยอดในการรักษาผู้ป่วยรายต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น