สปสช. เผย “โครงการแสงแห่งความหวัง” รักษาผู้ป่วยตาต้อกระจก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาขึ้น 2 เท่า จากเดิมเข้าถึงการรักษาต่ำสุดในประเทศ จากเหตุความไม่สงบ ช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดปัญหาตาบอด
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคต้อกระจกเป็นโรคที่ทำให้คนไทยตาบอดมากที่สุด ที่ผ่านมา สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงสนับสนุนให้ได้รับการผ่าตัดและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมที่มีคุณภาพ มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปีละกว่าแสนราย แต่ยังพบว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีผู้ป่วยเข้าถึงการผ่าตัดน้อยที่สุด อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์อำนวยการการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และ สปสช. เขต 12 สงขลา เพื่อให้การช่วยเหลือและดำเนินการภายใต้โครงการแสงแห่งความหวังเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม รวมทั้งในโอกาสวันสำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินการพบว่ามีผู้ป่วยเข้าถึงการผ่าตัดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จากเดิมมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด 1,500 ราย เพิ่มเป็น 3,000 ราย ในปี 2557 ซึ่ง สปสช. สนับสนุนค่าบริการผ่าตัดตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ได้ตามสิทธิประโยชน์ ขณะที่งบประมาณในการรณรงค์ให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 56 สสจ. ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส และหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการปีละประมาณ 500,000 บาท พื้นที่ดำเนินการในจังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส โดยนำผู้ป่วยเข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ ใน 3 จังหวัด อาทิ รพ.รามัน รพ.โคกโพธิ์ รพ.มายอ รพ.ทุ่งยางแดง รพ.บันนังสตาร์ รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี รพ.รือเสาะ รพ.ยะหริ่ง รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา รพ.ศรีสาคร รพ.จะแนะ เป็นต้น
ด้าน พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร หัวหน้ากองข่าวมณฑลทหารบกที่ 45 กล่าวว่า ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมหน่วย กรมทหารพรานที่ 46 ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม พบว่ามีประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุต่างมีปัญหาสุขภาพด้านสายตาด้วยสาเหตุโรคต้อเนื้อและต้อกระจก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นและดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจและอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษา เช่น ฐานะยากจน ระบบการรักษาปกติที่รอคิวนาน และความปลอดภัยของการเดินทางเนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย
“โครงการแสงแห่งความหวังเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ช่วยผู้ป่วยโรคต้อเนื้อและต้อกระจกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับการผ่าตัดรักษาจำนวนมาก โดยโรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะเบิกจ่ายค่ารักษาภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงนับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ และช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารและเสี่ยงภัยก็ตาม” หัวหน้ากองข่าวมณฑลทหารบกที่ 45 กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่