xs
xsm
sm
md
lg

สาระน่ารู้กับโรงพยาบาลธนบุรี1 เรื่อง “โรคกระเพาะอาหารกับเชื้อแบคทีเรีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคกระเพาะอาหารที่เรียกกันแพร่หลายจนติดปากนั้น ทางการแพทย์จะหมายถึง โรคแผลเปปติค (Peptic ulcer) ซึ่งจะเกิดเป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหารโดยตรง หรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร 80 % ของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะประสบปัญหาการเป็นๆ หายๆ คือหลังจากการรักษาแผลให้หายแล้วก็มักจะกลับมาเป็นแผลอีกเรื่อยๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในอดีตมีความเชื่อว่า โรคกระเพาะเป็นผลมาจากการที่กระเพาะอาหารมีกรดมาก หรือเยื่อบุกระเพาะอาหารไม่แข็งแรงแต่เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเราพบว่าโรคกระเพาะอาหารมีสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori)

แบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร

เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ที่มีการค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่กระเพาะอาหาร แต่ไม่ทราบถึงความสำคัญจนกระทั่งปี พ.ศ.2526 แพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่านคือ Barry Marchall และ Robin Warren สามารถเพาะเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ และค้นพบว่าเชื้อนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระเพาะอาหาร และได้ตั้งชื่อแบคทีเรียตัวนี้ว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) โดยปกติแล้วกระเพาะอาหารจะมีสภาพที่เป็นกรดอย่างแรง ซึ่งจะทำหน้าที่ทำลายแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรีย ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เนื่องจากเชื้อ เอช.ไพโลไร จะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ สามารถสร้างด่างมาหักล้างกับกรด ทำให้เชื้อนี้ สามารถอยู่และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดอย่างแรงในกระเพาะอาหารได้ จากการศึกษาวิจัยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร และเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเพิ่มขึ้น 6 -40 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อและมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2 - 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติและไม่มีการติดเชื้อ

อาการของโรคกระเพาะ

ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องบริเวณยอดอก หรือ ใต้ลิ้นปี่ โดยมีประวัติเป็นเรื้อรังมานานโดยสุขภาพทั่วไป ไม่ทรุดโทรม ผู้ป่วยบางรายมีอาการ จุก เสียด แน่น เจ็บ แสบ หรือร้อน โดยอาการจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร หรือ ชนิดของอาหารที่กิน เช่น อาจปวดมากตอนหิว หลังอาหารอาการจะทุเลา แต่ผู้ป่วยบางคนอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น บางรายอาจมีอาการปวดท้องกลางคืน

ติดต่อกันอย่างไร

สันนิษฐานกันว่าการถ่ายทอดของเชื้อเกิดจากคนสู่คน โดยผ่านทางปาก เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความชุกของการติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้พบว่ามีการระบาดค่อนข้างสูงในชุมชนที่อยู่แออัดในครอบครัวหรือสถาบันเดียวกัน

แบคทีเรียในกระเพาะอาหาร

ในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ส่วนใหญ่แล้วจะทำโดยวิธีการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร แล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะมาตรวจหาเชื้อโดยเทคนิคต่างๆ เช่น วิธีการทางพยาธิวิทยา หรือดูการเปลี่ยนสีของชุดตรวจพิเศษเพื่อหาเชื้อ เอช.ไพโลไร นอกจากวิธีส่องกล้องแล้วก็ยังมีวิธีการเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ วิธีการตรวจลมหายใจ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้่อ เอช.ไพโลไร ที่ดีที่สุด แต่ราคาค่อนข้างแพง

การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ

ในปัจจุบันแนวทางการรักษาทั่วไป แนะนำให้ตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารทุกราย และให้การรักษาเพื่อการกำจัดเชื้อเอช. ไพโลไร ด้วยเสมอ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ไม่ว่าจะเพิ่งเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นครั้งแรก หรือเคยเป็นๆ หายๆ การรักษาที่นิยมใช้กันมาก
และมีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วยการใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิดร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1 -2 สัปดาห์ พบว่าได้ผลการกำจัดเชื้อมากกว่า 90 % ข้อบ่งชี้ว่ากำจัดเชื้อได้ คือ การตรวจไม่พบเชื้่อ เอช.ไพโลไร เมื่อ 4 สัปดาห์หลังจากหยุดการรักษา

ข้อดีของการกำจัดเชื้อ
พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกลดลงไปอย่างมาก (จาก 80% ใน 1 ปี ลดลงเหลือไม่เกิน 10% ใน 1 ปี) และมีโอกาสหายขาดทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมาน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงไปได้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องรักษาอยู่เรื่อยๆ และยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข้อควรปฏิบัติ

พึงระลึกไว้เสมอว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น มักเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ถ้าไม่ระวัง รักษา หรือ ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องดังนี้
• กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
• กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
• กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่บ่อย ไม่ควรกินจนอิ่มในแต่ละมื้อ
• หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม
• งดบุหรี่ และงดดื่มสุรา
• งดการให้ยาแอสไพรินและยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกทุกชนิด (NSAID)
• ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย
• ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
• ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ปวดท้องรุนแรง หรือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปหาแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี1
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : http://thonburihospital.com/2013/Promotion_Detail.aspx?Id=82 หรือ โทร. 0-2421-3870 (เวลา 08.00-22.00น.)
HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 ต่อ 7470-1
เปิดบริการทุกวัน
Email : th@thonburihospital.com
http://www.thonburihospital.com


(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น