xs
xsm
sm
md
lg

CVS ภาวะเสพติดไอทีที่ต้องบำบัดรักษา !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรคไข้เลือดออกกำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากจากผู้คนในสังคม มีทั้งการตื่นตัวและการตื่นกลัวจากกรณีของ คุณปอ - ทฤษฎี สหวงษ์ ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก และกลายเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยที่ทำให้ผู้คนตื่นรู้กับโรคเก่าสายพันธุ์ใหม่นี้ หันมาใส่ใจ และพยายามหาทางป้องกันตั้งแต่ต้นทาง
เรื่องโรคไข้เลือดออกไม่ใช่เรื่องใหม่ มันอยู่กับเรามาอย่างยาวนาน แต่ครั้งนี้มันถูกกระตุกให้ผู้คนหันมาเรียนรู้จักเจ้าโรคนี้ได้อย่างน่าทึ่ง
แต่ก็ยังมีอีกหลายโรคที่กำลังคุกคามสังคมไทยและสังคมโลกเป็นอย่างมาก
โดยเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อลำดับต้น ๆ
อาจจะไม่โด่งดังเป็นกระแสเหมือนโรคไข้เลือดออก แต่ก็อยากให้ผู้คนในสังคมตื่นรู้ก่อนที่ภัยจะมาถึงคนใกล้ตัวของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่มากับการเสพเทคโนโลยี
โรค “คอมพิวเตอร์ วิชัน ซินโดรม” (Computer Vision Syndrome : CVS) เป็นอีกโรคหนึ่งที่กำลังคุกคามเด็ก ๆ ในบ้านเรา
เจ้าโรค CVS เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ไอที เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ฯลฯ เป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตา ทำให้กล้ามเนื้อตาล้า ส่งผลต่อความผิดปกติทางสายตา ซึ่งเดิมทีมักพบในผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่อายุมากกว่า 40 ขึ้นไป แต่ตอนนี้ปรากฏแนวโน้มในหลายประเทศว่า เด็กวัย 10 - 15 ปี ที่เพ่งจอนาน ๆ เริ่มมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มขึ้น
สาเหตุหลักเกิดจากการก้มดูหน้าจอในระยะใกล้เกินไป การมองจอภาพที่อยู่ห่างประมาณครึ่งฟุต หรือน้อยกว่านั้น กระตุ้นให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาและประสาทตาต้องเพ่งตลอดเวลา เกิดภาวะตึงเครียด ตาแดง แสบตา มองภาพไม่ชัดเจน และมักนำไปสู่อาการปวดศีรษะ หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตราย และตามมาด้วยอาการปวดตามต้นคอ ปวดหลังและไหล่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนที่เอาแต่ก้มศีรษะ
จะว่าไปแล้วเจ้าโรค CVS ก็เป็นซับเซ็ทของเด็กติดเกมหรือเด็กติดสมาร์ทโฟนนั่นแหละ เพราะในแต่ละวันเด็กจำนวนมากมักจมจ่อมอยู่หน้าจอเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์
จากสถิติของสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง 2 หมื่นคน ทั่วประเทศ เมื่อปี 2556 พบว่า มีเด็กติดเกม 15% เล่นเกมออนไลน์ ใช้ไลน์ ไอจี เฟซบุ๊ก 15% และเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติจำนวนเยาวชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 18 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีเด็กไทยติดเกมแล้วมากกว่า 2.7 ล้านคน
สอดคล้องกับตัวเลขของบริษัทเอเยนซีแห่งหนึ่งในบ้านเราที่ทำการสำรวจพบว่า ใน 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน คนไทยโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงกว่า ๆ ไปกับหน้าจอต่าง ๆ กล่าวคือ ใช้เวลากับหน้าจอสมาร์ทโฟนเยอะที่สุดเกือบ 3 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมงครึ่ง แท็บเล็ต 1 ชั่วโมงครึ่ง และโทรทัศน์ประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที
โรคเกม หรือภาวะติดเกม คือ การที่เด็กใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมง/วัน และมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
จนถึงขนาดที่องค์การอนามัยโล เตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่อง “เสพติด” ว่า นอกจากสารเสพติดแล้วยังรวมไปถึงการเสพติดประเภทอื่น ๆ เช่น เกม หรือคอมพิวเตอร์ ถูกจัดว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งด้วย
เรียกว่า “ภาวะการติดเกม” จัดอยู่ในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ และต้องการการบำบัดรักษา
นี่ยังไม่นับรวมกับอีกสารพัดโรคที่มาพร้อมกับภาวะเสพติดเทคโนโลยีอีกนะ บางประเทศถึงกับต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อทำการบำบัดโรคกันทีเดียว
อย่างในประเทศจีนมีการริเริ่มโครงการช่วยเหลือวัยรุ่นที่เสพติดโลกออนไลน์ จนถึงปัจจุบันทั่วประเทศจีนมีการตั้งค่ายเพื่อบำบัดและช่วยเหลือเยาวชนให้พ้นจากอาการเสพติดอินเทอร์เน็ตกว่า 400-500 แห่ง
ขณะที่ในสิงคโปร์ก็ติดอันดับหนึ่งประเทศใช้สมาร์ทโฟนในเอเชีย - แปซิฟิก เท่ากับฮ่องกง แม้กระทั่งเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า เรียกว่า แทบจะทั่วโลกเลยก็ว่าได้ที่เด็กและเยาวชนทั่วโลกมีแนวโน้มจะป่วยด้วยสารพัดโรคภัยที่มากับเทคโนโลยี และเชื่อแน่ว่าสายตาของเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตจะเป็นปัญหามาก
แนวโน้มเด็กทั่วโลกจะมีความผิดปกติทางสายตาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยี และสุดท้ายก็จะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาสายตาของคนที่มีปัญหาอีกที
โลกยุคหน้า เราคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีกันไม่รู้จบ ประเภทข้อกำหนดให้เด็กอ่านหนังสือระยะห่างหนึ่งฟุตหรือระยะหนึ่งไม้บรรทัดโดยมีแสงสว่างเพียงพอที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ยึดถือปฏิบัติ กลายเป็นเรื่องที่เด็กสมัยนี้ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และปฏิบัติตรงกันข้ามเป็นส่วนใหญ่
แม้จะเปรียบเทียบกับโรคไข้เลือดออกไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตข้างหน้า CVS จะสร้างความเสียหายให้สังคมไทยและสังคมโลกมากขนาดไหน
หากพยายามมีสติระลึกรู้ แล้วลองห่าง ๆ มันเสียบ้างสักวันละเล็กวันละน้อย อาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีกว่าปล่อยไปเลยตามเลย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น