xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยใส่แว่นไม่ตรงค่าสายตากว่า 6 หมื่น ดันนโยบายชาติ “ครู” คัดกรองตาเด็กผิดปกติแทนหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

HITAP ชี้ ให้ “ครู” คัดกรองสายตาผิดปกติในเด็ก 3 - 12 ปี ก่อนส่งจักษุแพทย์วินิจฉัยต่อหากผิดปกติ พร้อมตัดแว่นให้ฟรี มีความคุ้มค่า เร่งจัดทำแผนชง รมว.สธ. ดันเป็นนโยบายรัฐบาล ช่วยเด็กกว่า 3 แสนคน มีปัญหาสายตาจำเป็นต้องตัดแว่น หลังพบมีเพียง 0.25% หรือ 2 หมื่นคน ที่ใส่แว่นถูกกับค่าสายตา หวั่นเกิดภาวะตาขี้เกียจ

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) นำเสนอโครงการชัดแจ๋ว : ตรวจตาเด็ก...เพื่ออนาคตไทย ในงานแถลงข่าว “โครงการเมธีวิจัยอาวุโส เชื่อมงานวิจัยสู่นโยบาย” จัดโดย HITAP และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า เด็กที่เกิดมาพร้อมภาวะสายตาผิดปกติ คือ สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง จะไม่ทราบว่าสายตาตัวเองผิดปกติ เพราะเห็นภาพมัว ๆ เช่นนี้มาตั้งแต่เกิด พ่อแม่ก็ไม่ทราบ จนเมื่อโตขึ้นทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีปัญหาด้านการเรียน ทำให้ถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อรั้นหรือโง่ ถูกพ่อแม่หรือครูดุด่าบ่อยครั้ง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะนำมาสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ที่นำมาสู่ภาวะตาบอดในเด็กได้ และเมื่อโตขึ้นก็ไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขได้ แม้จะใส่แว่นสายตาก็ไม่มีผล เพราะตรงนี้เกิดขึ้นจากสมองที่รับแต่ภาพไม่ชัดมาแต่เกิด สมองก็รับรู้เช่นนั้น ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา จึงไม่สามารถปรับให้เป็นปกติได้

นพ.ยศ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยลงนามมาแล้วกว่า 10 ปี ว่า จะร่วมคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก แต่ยังไม่สามารถทำได้ เพราะจักษุแพทย์ และนักทัศนมาตรศาสตร์มีจำนวนน้อย ไม่เหมือนสหรัฐอเมริการ หรือไต้หวัน ที่สามารถทำได้ HITAP จึงทำการศึกษาว่าหากมีการพัฒนาระบบคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กและจัดหาแว่นสายตาให้เด็กก่อนวัยประถม เพื่อบรรจุลงในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยดำเนินโครงการดังกล่าวในเด็กอายุ 3 - 12 ปี จำนวน 5,461 คน และให้ครูประจำชั้น ซึ่งถือว่ามีมากพอเป็นผู้คัดกรองแทน โดยมีการจัดทำคู่มือและอบรมให้ครูสามารถคัดกรองได้ และพัฒนาอุปกรณ์ในการประเมินสายตาเด็ก จากเดิมใช้ตัวเลขให้อ่าน แต่เด็กอาจยังไม่รู้จักตัวเลขทำให้บอกผิดได้ จึงเปลี่ยนมาใช้แผนภูมิรูปแทน เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปบ้าน รูปแอปเปิล เป็นต้น หากเด็กมีความผิดปกติจึงส่งตัวต่อมายังโรงพยาบาลเพื่อให้จักษุแพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัยความผิดปกติ และแก้ไขโดยการตัดแว่นให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเด็กจะต้องมาตรวจวัดสายตาเพื่อเปลี่ยนแว่นทุกปี เพราะค่าสายตาเด็กจะเปลี่ยนรวดเร็ว

การศึกษานี้พบว่า มีเด็กที่ได้รับการวินิจฉัย ว่า มีภาวะสายตาผิดปกติจำนวน 6.6% หรือราว 300 คน จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาจำนวน 4.1% ในจำนวนนี้มีแว่นใส่อยู่ก่อนหน้าการคัดกรองแล้วเพียง 1% แต่แว่นเดิมมีความถูกต้องตามค่าสายตาเด็กเพียงแค่ 0.25% เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กช่วงอายุดังกล่าวทั้งประเทศ จึงคาดว่าน่าจะมีเด็กที่มีสายตาผิดปกติ 5.7 แสนคน โดยประมาณ 3.5 แสนคน จำเป็นต้องใส่แว่น มีเด็กที่ตัดแว่นแล้วประมาณ 8 หมื่นคน แต่ใส่แว่นถูกต้องกับค่าสายตาประมาณ 2 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการโครงการนี้ทั้งประเทศได้จะสามารถช่วยเหลือการแก้ไขสายตาเด็กได้มากกว่า 3 แสนคน ซึ่งจากการประเมินการคัดกรองเช่นนี้ และตัดแว่นให้เด็กโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พบว่ามีความคุ้มค่าหากดำเนินการ” นพ.ยศ กล่าว

นพ.ยศ กล่าวว่า การศึกษานี้ได้นำเสนอต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรสุข (สธ.) แล้ว ซึ่ง รมว.สธ. ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้และเห็นชอบกับหลักการเบื้องต้นว่าควรให้มีการคัดกรอง เพราะรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญและสนใจในเรื่องของพัฒนาการเด็ก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมระหว่างราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ครู และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ รมว.สธ. ซึ่งหากได้รับการประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการบรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น