xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าต้อกระจก สปสช.ไม่ลดตาบอด ผุดโครงการใหม่เร่งคัดกรอง ส่งผ่าใน 30 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ชี้โครงการผ่าตัดต้อกระจก สปสช.ไม่ช่วยลดภาวะตาบอด เหตุประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ ผู้ป่วยหลบซ่อนไม่พบแพทย์ พ่วงกระจายการผ่าตัดไม่ดี ร่วม สธ.ผุดโครงการรวมใจไร้ตาบอดต้อกระจก ส่ง อสม.คัดกรองทั่วประเทศ ส่งผ่าตัดไม่เกิน 30 วัน มั่นใจปี 2560 ปัญหาลด

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ให้ความเห็นต่อโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มานานกว่า 7 ปี ใช้งบประมาณในโครงการนี้กว่า 10,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ลดอัตราตาบอดคนไทยลง ว่า แม้จะมีโครงการของ สปสช. แต่จากการสำรวจภาวะตาบอดของคนไทยมา 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2525-2555 พบว่า อัตราตาบอดยังใกล้เคียงกัน ไม่ได้ลดลงมากอย่างที่ควรเป็น โดยในปี 2526 อัตราตาบอดอยู่ที่ 1.14% เกิดจากภาวะตาต้อกระจก 47.3% เป็นตาต้อกระจกตกค้างประมาณ 270,000 ราย ปี 2530 อัตราตาบอดอยู่ที่ 0.58% เกิดจากภาวะตาต้อกระจก 71.3% ตาต้อกระจกตกค้าง 220,000 ราย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในปี 2537 อัตราตาบอดอยู่ที่ 0.31% เกิดจากภาวะตาต้อกระจก 74.7% ตาต้อกระจกตกค้าง 134,000 ราย ในปี 2550 อัตราตาบอดอยู่ที่ 0.59% เกิดจากตาต้อกระจก 51.6% ตาต้อกระจกตกค้าง 98,336 ราย และปี 2555 อัตราตาบอดอยู่ที่ 0.60% เกิดจากตาต้อกระจก 69.7% ตาต้อกระจกตกค้าง 70,071 ราย จะเห็นได้ว่าภาวะตาบอดของไทยยังเกินกำหนดขององค์การอนามัยโลกคือ ต้องไม่เกิน 0.5% และเกินครึ่งเกิดจากภาวะตาต้อกระจก จึงมองว่าประชาชนทั่วประเทศยังเข้าถึงการผ่าตัดต้อกระจกไม่ได้มากเท่าที่ควร หรืออาจเรียกได้ว่าการกระจายตัวของการผ่าตัดยังทำได้ไม่ดีพอ บางแห่งพบว่าเข้าถึงบริการสูง แต่บางแห่งเข้าถึงบริการต่ำ พอสำรวจอัตราภาวะตาบอดจากต้อกระจกจึงพบว่ายังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

"ปัญหาของตาต้อกระจกคือ จะซ่อนอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาตาบอดจากตาต้อกระจกคือมักไม่มารับบริการ ซึ่งจักษุแพทย์เองก็ไม่ได้มีเพียงพอ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนคือ โครงการรวมใจไร้ตาบอดจากต้อกระจก 2560 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มุ่งให้ รพ.ทั่วประเทศเน้นคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในชุมชน โดยอบรม อสม.ไปคัดกรองผู้สูงอายุที่เข้าข่ายตาบอดจากตาต้อกระจก และจะจัดพยาบาลด้านจักษุหรือจักษุแพทย์ลงไปวินิจฉัยว่าผู้ป่วยดังกล่าวมีภาวะตาบอดจากตาต้อกระจกจริงหรือไม่ หากจริงก็จะจัดเข้าสู่ระบบการรักษา โดยขึ้นทะเบียนและรอผ่าตัดโดยเร็ว ซึ่งราชวิทยาลัยฯจะดูแลมาตรฐานในเรื่องการคัดกรอง การผ่าตัด และการดูแลหลังการผ่าตัด ขณะที่ สธ.จะช่วยจัดสรรทรัพยากร เช่น พื้นที่ไหนที่พบภาวะตาบอดจากต้อกระจกมาก แต่จักษุแพทย์มีน้อย ก็จะจัดสรรจักษุแพทย์จากเขตสุขภาพด้วยกันมาช่วยเหลือ เป็นต้น" นพ.ไพศาล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก สปสช.ไม่ช่วยลดอัตราตาบอดจากตาต้อกระจก แล้วโครงการดังกล่าวจะช่วยลดอัตราตาบอดได้หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย่างที่บอกโครงการนี้จะเน้นช่วยคัดกรองผู้ป่วยจากทั่วประเทศออกมา เพราะปัญหาของโครงการ สปสช.คือการเข้าถึงบริการยังไม่มาก และการกระจายตัวยังไม่ดีพอ ซึ่งโครงการนี้ก็จะเข้าไปช่วยเสริมให้ผู้ที่มีปัญหาตาบอดจากตาต้อกระจกได้ผ่าตัดเร็วขึ้น ไม่เกิน 30 วัน โดยผู้ที่มีปัญหาสายตารุนแรงกว่าก็อาจจะได้รับคิวการผ่าตัดก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ภายในปี 2560

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น