โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
จากการลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในชุมชนบ้านดอนแก้ว ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ถือเป็นชุมชนต้นแบบแห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการลดเหล้าและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่พื้นที่อื่น ๆ อย่างช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมาพบว่า มีคนในพื้นที่ร่วมลงนามงดเหลาถึง 600 คน ทั้งงดเหล้าครบพรรษา งดดื่มเหล้าวันพระ งดเหล้าวันเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น
ความสำเร็จของชุมชนบ้านดอนแก้วนั้น นายชัยรัตน์ ทองใบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง กล่าวว่า เกิดจากการทำประชามติของคนในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องเหล้า ซึ่งปัญหาของของชุมชนบ้านดอนแก้วคือ ผู้คนในชุมชนมีชีวิตผูกพันกับสุรามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ ที่เจ้าภาพต้องจัดหาสุรา อาหารดิบมาเลี้ยงรับรองแขก หรือแม้แต่ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่ทุกคนจะแสดงน้ำใจมาช่วยเหลือบ้านที่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ซึ่งจะต้องมีการดื่มสุราเพื่อแก้วอาการปวดเอว ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่สามารถช่วยแก้ปวดเอวได้
“ ประเด็นสำคัญคือ เมื่อดื่มสุราแล้ว มักจะทำให้เกิดมีปากเสียง ทะเลาะวิวาท เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนนำมาซึ่งความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิต จนนำมาสู่การพูดคุยในคณะกรรมการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยสร้างประชามติผ่านวงประชาคมหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องงดเหล้า ” นายชัยรัตน์ กล่าว
นายชัยรัตน์ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องเหล้าในชุมชนได้ คือต้องทำให้ชุมชนรู้ปัญหาเหล่านี้เสียก่อนว่า ส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง มีโทษอย่างไร ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วก็จะเห็นความสำคัญ และร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาในที่สุด
ด้าน นายธงชัย ยงยืน ประธานเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า การจะทำให้ชุมชนปลอดเหล้าประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ประเด็นสำคัญ คือ ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของคนในหมู่บ้านให้ได้ เช่น ค่านิยมในการดื่มเพื่อเข้าสังคม เข้ากลุ่มเพื่อน หรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการดื่ม เช่น ระบบโครงสร้างภายในชุมชนที่ง่ายต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างกรณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้วมีการเอาเหล้ามาแจกจ่ายดื่มกันเพื่อแก้อาการปวดเอว ก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกันใหม่ว่าที่จริงแล้วการดื่มเหล้านั้นแก้ปัญหาไม่ได้ หากสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมต่าง ๆ ในชุมชนใหม่ได้ ก็จะช่วยให้การเดินหน้างานลดเหล้าในชุมชนประสบความสำเร็จ
นายธงชัย กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่องการลดเหล้าต่อจากนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายจะเน้นทำงานในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ถ้าสามารถเข้าถึงชุมชนได้ เปลี่ยนค่านิยมทัศนคติคนในชุมชนได้ โอกาสที่การรณรงค์งดเหล้าจะประสบความสำเร็จก็มีสูง เพราะชาวบ้านเห็นด้วยและเอาด้วย ที่ต้องทำคือรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในชุมชนของตนเองบ้าง โดยอาจให้มาช่วยวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาของคนในชุมชน ซึ่งจะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นล้วนแต่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุ เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดขึ้น และให้มีส่วนร่วมในการหาทางออก หาทางแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ จะยังเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมด้วย
“การเข้ามาทำงานในชุมชนเช่นนี้ถือเป็นการยกระดับกลไกการทำงาน ผู้ที่คิดออกแบบแก้ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ใช่พวกเราแล้ว แต่จะเป็นชาวบ้านที่ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและทำ โดยพวกเราจะเป็นผู้สนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านวิชาการ จัดหาวิทยากร สื่อประชาสัมพันธ์ ตามแต่ที่ชุมชนจะร้องขอมา รวมถึงจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของแต่ละชุมชน ปีละ 2 - 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นายธงชัย กล่าวและว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน แนวทางแก้ปัญหาต่างกัน แต่การมาเรียนรู้วิธีการดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมกัน ก็จะช่วยให้เห็นแนวคิดการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ และสามารถนำมาประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานในพื้นที่ของตนได้
เมื่อสามารถทำชุมชนปลอดเหล้าได้ ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนก็จะลดน้อยลงไป อย่างชุมชนบ้านดอนแก้วเอง พ่อหลวงพล ทารักษ์ ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว กล่าวว่า จากการดำเนินการผ่านมติของประชาคมหมู่บ้าน โดยออกเป็นกฎระเบียบที่ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตาม เช่น มาตรการปรับเงินเจ้าภาพที่เลี้ยงเหล้าในงานศพ จำนวน 2,000 บาท ซึ่งเงินตรงนี้จะนำไปเข้ากองกลางของชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ก็ไม่มีการจัดสุราเลี้ยงในงานศพอีกต่อไปแล้ว ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงทำเรื่องงานบุญปลอดเหล้า ร้านค้าปลอดเหล้า มีมาตรการปรับคนที่ดื่มสุราแล้วทะเลาะวิวาทในตำบล 5,000 บาท ดื่มเหล้าในงานบุญปรับ 2,000 บาท เลิกดื่มสุราหลังการลงแขกเกี่ยวข้าว หันมาดื่มน้ำนมถั่วเหลืองแทน เป็นต้น พบว่า อาชญากรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ การเมาทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุต่าง ๆ ลดลงอย่างชัดเจน ถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นภายในชุมชน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่