xs
xsm
sm
md
lg

ชงแผนผลิตคุรุทายาทสายช่างป้อนอาชีวศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชง 3 แนวทาง “มอบทุนเรียนดี - พัฒนาแหล่งผลิต - ฝึกอบรมเด็กโครงการคุรุทายาท” ปั้นคุรุทายาทสายช่างป้อนอาชีวศึกษา

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคุรุทายาท 15 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มทร.ทั้ง 9 แห่ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า 3 แห่ง และอาชีวศึกษา ว่า ได้วางแนวทางไว้ 3 ด้าน คือ 1. การจัดหลักสูตรการสอนคุรุทายาท โดยจะมีการมอบทุนให้นักเรียนที่เรียนดี เพื่อผลิตเป็นครูอาชีวศึกษา 2. พัฒนาแหล่งผลิต โดยจะร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือ ห้องแล็บ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ 3. การฝึกอบรมเด็กที่จบจากโครงการคุรุทายาท อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยทุกปีเด็กที่จบจะต้องมาฝึกวิชาชีพเพิ่มเติม รวมถึงครูช่างที่อยู่ในระบบแล้วจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ครูช่างที่อยู่ในระบบ เข้ามาต่อยอดเรียนในระดับปริญญาโท-เอก เพื่อพัฒนาด้านวุฒิการศึกษา รองรับการขยายตัวของอาชีวะที่จะจัดการเรียนสอนในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แผนงานเหล่านี้ได้นำเสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาต่อไป

“เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลให้ความสนใจและสนับสนุนการผลิตครูช่าง ส่วนตัวมองว่าอาชีวศึกษาเองก็ต้องได้รับการปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่นักศึกษา ระบบการเรียนการสอนที่ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ และการพัฒนาครูให้มีคุณภาพต่อการจัดการสอน รวมถึงตอบแทนคนที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี หรือค่าตอบแทนครูอาชีวะเองก็ควรจะเชื่อมโยงทั้งระบบ รวมถึงสาขาที่เป็นเมกะโปรเจคที่รัฐวางแผนดำเนินโครงการอยู่ในขณะนี้ ต้องมีการเตรียมทั้งหลักสูตรและบุคลากรไว้ให้พร้อม เมื่อรัฐบาลเดินหน้าต้องมีแรงงานขั้นสูง เพื่อรองรับได้ทันที นอกจากนี้ในอนาคตการผลิตชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์บางส่วนของเมกะโปรเจคเราต้องทำได้เอง เพื่อลดการนำเข้า เป็นการวางแผนทั้งคนและภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเมกะโปรเจคที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน มทร.ธัญบุรี ก็ต้องปรับตัวเองให้เป็น Excellent Center หรือศูนย์บ่มเพาะให้เกิดทักษะแรงงานที่สูงขึ้นด้วย” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

  อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ในส่วนของคณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี ได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการประเมินใหม่ โดยหลักสูตรจากนี้จะต้องเชื่อมโยงกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นักศึกษาที่เรียนคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม 5 ปี จะต้องเป็นทั้งบัณฑิตนักปฏิบัติและวิชาชีพครู ดังนั้น ในช่วงที่ปิดเทอมแต่ละชั้นปี เริ่มตั้งแต่ปีที่ 1 นักศึกษาจะต้องสอบพื้นฐานแรงงาน จากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระดับ 1 - 2 ส่วนปี 2 ต้องผ่านระดับ 3 และปี 4 จะต้องสอบสมรรถนะคุณวุฒิวิชาชีพในระดับ 4 - 6 เพราะสิ่งที่เรียนแต่เดิมเป็นวุฒิคุรุศาสตร์อย่างเดียว ซึ่งเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกไป ไม่จำเป็นต้องเป็นครูเพียงอย่างเดียว แต่สามารถรับประกาศนียบัตรที่สามารถนำไปสมัครงานในภาคอุตสาหกรรมได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น