xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ธัญบุรี อัปความรู้ศิษย์ให้ทันสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มทร.ธัญบุรี” ปั้น บัณฑิตนักปฏิบัติ บนฐานงานวิจัย เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ตอบโจทย์ประเทศบทบาทหน้าที่ของ “สถาบันอุดมศึกษา” ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งให้ความรู้ อบรมสั่งสอนให้นักศึกษาเป็นคนเก่ง ดี มีคุณธรรม เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างทรัพยากรบุคคล กำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี” 1 ใน 9 ราชมงคล ที่มุ่งผลิต “บัณฑิตนักปฎิบัติ” มาอย่างยาวนาน

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ผู้วางแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตนักปฎิบัติ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงปฎิบัติอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำโครงงาน หรืองานวิจัย เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ บนพื้นฐานงานวิจัย เล่าว่า ขณะนี้ มีตัวเลขผู้จบปริญญาตรี 230,000 คน มีผู้ทำงานเพียง 130,000 คน ส่วน 100,000 คนตกงาน แต่ประเทศยังขาดแคลนแรงงาน ถ้าวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการขาดแคลนแรงงาน ทั้งที่มีคนจบปริญญาตรีจำนวนมาก อาจเป็นไปได้ว่าความรู้ของบัณฑิตที่จบออกไปไม่เพียงพอ หรือเรียนไม่ตรงกับสิ่งที่ภาคเอกชน อุตสาหกรรมต้องการ ขณะเดียวกัน อาจไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทาง มทร.ธัญบุรี สนับสนุนอาจารย์ทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนแล้วนำงานวิจัยเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน “SMART UNIVERSITY” มทร.ธัญบุรี กำลังก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความแข็งแกร่งด้านบัณฑิตนักปฏิบัติ วิชาการ และเทคโนโลยี มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีและแข่งขันได้ในระดับสากลด้วยศักยภาพของความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ว่องไว และจะมีการปฎิรูปยกระดับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ รวมถึงได้รับความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นจากสาธารณชน

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เล่าว่า มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยเน้นให้เด็กมีส่วนร่วม มีความสุขในการเรียน ซึ่งอาจารย์จะนำโจทย์ องค์ความรู้ บทเรียน ตัวอย่างจากงานทำงานวิจัย การเรียนแบบโครงงานหรือ โปรเจค โดยเอาปัญหานำ ทำให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กล้าถาม กล้าคิด กล้าทำ ขณะเดียวกัน เปิดโอกาสให้เด็กลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ ทำให้เด็กได้องค์ความรู้ เห็นถึงปัญหา ความสำเร็จ เด็กได้เรียนรู้กรณีใหม่ๆ จากสถานการณ์จริงพวกเขาจะตื่นเต้น กระตือรือร้นอยากเรียนรู้ตลอดเวลา

“เราได้พยายามให้อาจารย์นำตัวอย่างจากงานวิจัย หรือการไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน อุตสาหกรรม นำมาใช้ในการเรียนการสอน โต้ตอบกับนักศึกษา หรือนักศึกษาด้วยกันเอง ทำให้นักศึกษามีความสุข มีความเข้าใจในการเรียนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยบอกไว้ว่า หากการเรียนตลอด 7 วัน การสอนแบบท่องจำทำให้นักศึกษาเข้าใจไม่เกิน 10% แต่สอนแบบให้ได้เด็กเรียนรู้ แลกเปลี่ยน อธิบายจะทำให้เด็กเข้าใจบทเรียน เรื่องต่างๆ ได้ถึง 90% ทำให้เด็กรู้สนุกทุกครั้งที่เข้าเรียน และความสุขของเด็กก็เป็นกำลังใจให้ครูอยากเรียนรู้ วันนี้ มทร.ธัญบุรี จึงประกาศได้ชัดเจนว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติเป็นพื้นฐานงานวิจัย ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเชื่อมโยงงานวิจัย มาบูรณาการการเรียนการสอน ”รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า อีก 2 ปีข้างหน้า มทร.ธัญบุรี จะยังคงผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติบนพื้นฐานงานวิจัย ที่จะพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมการส่งเสริมความเป็นนานาชาติ ภายใต้การบริหารจัดการสมัยใหม่

รศ.ดร.ประเสริฐ เล่าปิดท้ายว่า คนทุกอาชีพต้องกลับมามหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเติมเต็มความรู้ความเชี่ยวชาญ เพราะแรงงานอาจมีทักษะ ประสบการณ์ทำงานมาหลายปี แต่อาจขาดความเชี่ยวชาญ ทักษะสมัยใหม่ จำเป็นต้องกลับมาอัปเกรดความรู้ มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นสถานที่อัปเกรดความรู้ ในราคาที่ไม่แพง เพื่อทำให้คนมีความรู้ ความสามารถที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรเพิ่มเติมความรู้ปีละครั้ง โดยเฉพาะในสาขาด้านคอมพิวเตอร์ ด้านเทคโนโลยี จำเป็นที่ตนเองเข้ามาเติมเต็มความรู้ตลอดเวลา มทร.ธัญบุรี จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดูแลนักศึกษา บัณฑิต ศิษย์เก่าไปตลอดชีวิตผ่านการเป็นแหล่งอบรมความรู้ อยากรู้ว่า เรียนสนุกทั้งทฤษฎี และจากประสบการณ์จริงเป็นเช่นไรได้ที่ http://www.rmutt.ac.th
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น