งานวิจัยตีแผ่ชีวิตพนักงาน ขสมก. พบทนรถติด กลั้นปัสสาวะ หนี้เพียบ เครียดสะสม เกินครึ่งมีปัญหาสุขภาพ พบมีโรคประจำตัวหลายอย่าง กว่า 22% ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ขสมก.ปรับปรุงสวัสดิการ คุณภาพชีวิตพนักงาน
วันนี้ (4 พ.ย.) น.ส.อรพินธุ์ แทนทอง พนักงานสายตรวจพิเศษ ขสมก. นำเสนอผลการวิจัยสำรวจสถานะสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดโดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ขสมก. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ว่า จากการสัมภาษณ์พนักงาน ขสมก. ในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งเพศหญิงและชายจำนวน 1,243 รายทั่วทุกเขต พบว่า พนักงาน ขสมก. เกินครึ่งต้องเผชิญปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตหลายด้าน ส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลาวันละ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ที่น่าตกใจคือปัญหาการมีโรคประจำตัว ที่พบมากสุด คือ ความดันโลหิตสูง 24.55% เบาหวาน 18.25% ไขมันในเลือดสูง 13.7% ซึ่งพนักงานกว่า 22% ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
“นอกจากนี้ ยังมีการกินอาหารไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา เหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาการทางร่างกายจากการที่ต้องนั่งหรือยืนอยู่บนรถเมล์นาน ๆ และที่สำคัญคือ การที่พนักงานต้องกลั้นปัสสาวะและอุจจาระเป็นประจำ เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดและเส้นทางเดินรถที่มีระยะทางไกล รวมทั้งการที่ท่ารถบางแห่งยังมีห้องน้ำไม่เพียงพอ ปัญหาอื่น ๆ ที่พนักงานเจอ เช่น การถูกคุกคามทางเพศ ที่พบมากที่สุดคือพนักงานเก็บค่าโดยสารหญิง ปัญหาหนี้สิน โดย 85% ระบุตนเองมีหนี้สินที่เป็นภาระพอสมควร โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆและมีพนักงานบางส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบด้วย” น.ส.อรพินธุ์ กล่าว
น.ส.อรพินธุ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงระบบสวัสดิการของพนักงาน เตรียมยื่นต่อ ขสมก. ได้แก่ 1. จัดสวัสดิการจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เพื่อลดภาระที่พนักงานต้องหาเงินมาสำรองจ่ายยามเจ็บป่วย 2. ปรับปรุงระบบการตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงานได้รับบริการอย่างทั่วถึง เพราะปัจจุบันการตรวจสุขภาพประจำปีที่ ขสมก. จัดให้ยังมีระยะเวลาจำกัด ทำให้พนักงานที่ต้องเข้ากะทำงานเสียโอกาส 3. จัดร้านค้าสวัสดิการที่ขายอาหารที่มีคุณภาพดีและราคาถูก รวมทั้งจัดน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีห้องน้ำตามอู่รถเมล์ 4. จัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย 5. จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการหนี้สิน และ 6. สร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้
น.ส.ธนพร ลวดลายทอง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบสวัสดิการ ขสมก. กล่าวว่า ผลวิจัยที่ออกมาถือเป็นการสะท้อนปัญหาสุขภาพของพนักงาน ขสมก. ทำให้ผู้บริหารรับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หลังจากนี้ตนจะนำผลวิจัยไปปรับใช้ในการวางแผนงาน และเร่งนำเสนอต่อผู้บริหาร ขสมก. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น และสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่