xs
xsm
sm
md
lg

คนวัยทำงานมียีนเสี่ยงติดเชื้อวัณโรค ผุดวิธีตรวจวินิจฉัยใหม่ด้วยการเจาะเลือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศึกษาพบ “คนวัยทำงาน” 16% มียีนเสี่ยงติดเชื้อวัณโรค แม้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานก็ติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย 1.8 เท่า ผุดการตรวจวินิจฉัยวัณโรควิธีใหม่ด้วยการเจาะเลือด เร่งพัฒนาเป็นชุดทดสอบ

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล หัวหน้าศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อวัณโรค ประมาณร้อยละ 90 จะสามารถควบคุมการติดเชื้อ หรือการแสดงอาการของโรคได้ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะแสดงอาการ โดยร้อยละ 5 เกิดจากการมียีนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค แม้จะมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงก็ตาม ทั้งนี้ จากการวิจัยค้นหายีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มวัยทำงาน คือคนที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป พบว่า กลุ่มคนวัยทำงานประมาณ 16% จะมียีนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค โดยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคสูงขึ้น 1.8 เท่า ทำให้แม้จะมีร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง แต่ก็ติดเชื้อและแสดงอาการวัณโรคได้ ทั้งที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ส่วนในผู้สูงอายุไม่พบยีนที่มีความเสี่ยงดังกล่าว

“ส่วนผู้สูงอายุที่ป่วยวัณโรคนั้น เพราะร่างกายอ่อนแอลง ภูมิต้านทานน้อยลง ประกอบกับป่วยหลายโรค เช่น เบาหวาน ต้องมีการรับประทานยา ทำให้เชื้อวัณโรคแฝงในร่างกายแสดงอาการออกมา สำหรับการติดเชื้อวัณโรคนั้นมีหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนติดเชื้อวัณโรค คือ การมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น” นพ.สุรัคเมธ กล่าวและว่า โดยปกติเมื่อคนเราติดเชื้อวัณโรคจะพบว่า มียีนประมาณ 7 - 8 ตัว ในเลือดที่จะมีความผิดปกติไปจากเดิม รวมไปถึงยีนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคดังกล่าวด้วย กรมฯ จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรควิธีใหม่ด้วยวิธีการตรวจเลือด

นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยวัณโรคนั้น ตามปกติจะใช้วิธีการเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้สเลดของคนไข้ ส่วนวิธีการใหม่ที่เป็นการเจาะเลือดนั้น จะนำเลือดมาตรวจระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรคว่ามีการตอบสนองอย่างไร โดยหากพบว่า ยีน 7 - 8 ตัวดังกล่าวนั้น มีการทำงานที่ไม่เหมือนคนปกติ ก็น่าจะวินิจฉัยได้ว่าติดเชื้อวัณโรคอยู่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการตรวจดังกล่าวให้เป็นชุดทดสอบ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น