xs
xsm
sm
md
lg

ปรับสมดุลตรีธาตุ “ผู้สูงอายุ” ลดปัญหาการย่อยและดูดซึมอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ระบบทางเดินอาหารเป็นระบบเดียวในร่างกายที่ ตรีธาตุ อันประกอบด้วย วาตะ ปิตตะ และเสมหะ มาทำงานร่วมกัน โดยเสมหะจะอยู่บริเวณกระเพาะอาหาร และผนังลำไส้ มีหน้าที่ในการหล่อลื่น ส่วนปิตตะจะอยู่ที่ลำไส้เล็ก โดยจะเชื่อมโยงกับตับ ซึ่งจะหลั่งน้ำดีออกมาย่อยอาหาร และสำหรับวาตะ จะทำงานบริเวณส่วนปลายของระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่ขับอุจจาระออกไป

การรับประทานอาหารที่มีกากใยในปริมาณสูง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการขับถ่าย และเป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ หรือเชื้อแบคทีเรียดี ที่อาศัยอยู่ระหว่างลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ซึ่งคอยทำหน้าที่กำจัดสารพิษ สร้างวิตามิน ปรับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งช่วยในการสร้างและซ้อมแซมผนังลำไส้ให้เป็นปกติ ซึ่งบริเวณผนังลำไส้เป็นจุดเปราะบางสำหรับผู้สูงอายุ ที่อาจมีปัญหาลำไส้อักเสบ หรือลำไส้รั่ว ทำให้มีสารพิษออกมาสู่กระแสเลือด มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง จากการที่กระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อหรือการทำงานของเสมหะเสื่อมลง

ส่วนการทำงานของธาตุไฟจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 50% จะมีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ และมักจะขาดเอนไซม์ไลเปส โปรตีเอส และอะมัยเลส ซึ่งจะหลั่งออกมาย่อยอาหารในลำไส้เล็กส่วนต้นที่ส่งต่อมายังกระเพาะ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดลมในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากอาหารไม่ย่อย และมีอาการท้องผูก หรือท้องร่วง จนกลายเป็นปัญหาลำไส้เรื้อรังได้ในที่สุด

และจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อบวกกับการทำลายเยื่อบุในลำไส้ จะส่งผลให้การดูดซึมอาหารไม่เพียงพอ นำไปสู่การขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 แคลเซี่ยม เหล็ก สังกะสี และโปรตีน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอ่อนแอ เห็นได้จาหการที่ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เล็บเปราะและอ่อนแอ

การแก้ปัญหาธาตุไฟลดลงในผู้สูงอายุนั้น ควรใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อเป็นการปรับธาตุต่าง ๆ ให้สมดุล และช่วยในการย่อยและดูดซึมอาหาร ดังนี้ 1. การเคี้ยวอาหารช้าๆ เพื่อช่วยให้การย่อยดีขึ้น 2. เลือกอาหารที่ผลิตโดยวิธีการเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย และให้ตับได้ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยได้อย่างเต็มที่ 3. การรับประทานอาหารรสเปรี้ยวอย่างเหมาะสม เช่น น้ำผึ้งผสมมะนาว แกงส้ม ผลไม้รสเปรี้ยว และไม่ควรดื่มน้ำพร้อมอาหาร เพราะจะไปเจือจางน้ำย่อย

4. การรับประทานของขม เพื่อกระตุ่นการหลั่งน้ำย่อยจากตับ โดยอาจเลือกรับประทานยาธาตุในตำรับที่เหมาะสม 5. รับประทานอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลง แต่ให้เพิ่มมื้อของว่างตอนสายและบ่าย 6. การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญและย่อยอาหารให้ดีขึ้น 7. งดดื่มชา เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมสังกะสี ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ทำงานร่วมกับเอนไซม์ในการย่อยอาหาร

สำหรับการดื่มน้ำผึ้งมะนาว หรือกินยาบำรุงธาตุเป็นประจำ เพื่อแก้ปัญหาอาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุนั้น เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะหากเลือกรับประทานยาลดกรด จะทำให้สภาวะกรดด่างในกระเพาะอาหารเป็นกลาง และไปรบกวนการย่อยอาหาร นอกจากนี้ ในยาลดกรดส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจเป็นพิษได้ และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น