กรมอนามัยแนะออกเจกินอาหารย่อยง่าย “ปลา - ผัก - ผลไม้” ช่วยปรับสภาพการย่อยอาหาร เตือนกินเนื้อหนัก เสี่ยงท้องอืด จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ย้ำกินตามโภชนบัญญัติ โดยหลักสูตร 2 : 1 : 1 ช่วยคุมน้ำหนัก
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาการอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงกินเจติดต่อกันส่งผลให้ร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากเนื้อสัตว์มาเป็นพืช ดังนั้น เมื่อออกเจจึงควรต้องมีการปรับสภาพร่างกายก่อน ไม่ควรหันมากินอาหารประเภทหนัก ๆ และย่อยยาก ประเภท เนื้อวัว เนื้อหมู เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ แต่ควรกินอาหารย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ผัก และผลไม้ ทั้งนี้ เมื่อร่างกายปรับสภาพการย่อยอาหารมาสู่ภาวะเดิมก็สามารถกินอาหารตามปกติได้
นพ.วชิระ กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน ควรยึดการกินอาหารตามโภชนบัญญัติ 9 ประการ คือ 1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย 2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ 3. กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ 4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ 5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย 6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอเหมาะ แต่ละวันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับจากสารอาหารทั้งหมด 7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่หวานจัดและเค็มจัด 8. กินอาหาร ที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และ 9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
“การรับประทานอาหารหากได้รับปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย จะเกิดภาวะโภชนาการเกิน จึงควรเลี่ยงอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด พร้อมทั้งจัดจานด้วยหลักกินถูกส่วน 2 : 1 : 1 โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วน หรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 1 ส่วนเป็นกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง และอีก 1 ส่วนเป็นกลุ่มข้าวแป้ง อาจเพิ่มนมได้ แต่ควรเป็นนมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย และเน้นกินผักให้มาก เพราะอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ช่วยป้องกันโรค เพิ่มภูมิต้านทานโรค ขับถ่ายสะดวก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ” นพ.วชิระ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่