xs
xsm
sm
md
lg

โรคปอดบวมในเด็ก ภัยของเจ้าตัวเล็กที่มักมากับอากาศหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย... พญ.มณินทร วรรณรัตน์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

โรคปอดบวมในเด็ก เป็นหนึ่งใน 6 โรคที่ สธ.ประกาศเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงอากาศเย็น ซึ่งโรคปอดบวมนั้นพบประมาณร้อยละ 8 -10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พยากรณ์ของโรคจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และโรคประจำตัว

สาเหตุของโรคปอดบวม เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และ Atypical Pathogen เชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ได้แก่ นิวโมคอคคัส , ฮีโมฟิลุส ส่วนเชื้อไวรัส ได้แก่ อาร์เอสวี ,ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อ Atypical Pathogen ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้บ่อย ได้แก่ ไมโครพลาสม่า

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นปอดบวม?

มีไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ไอมีเสมหะ อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบ ในบางรายอาจมีอาการอื่นๆ เช่น เจ็บชายโครงขณะหายใจลึกๆ หรือไอ ปวดศรีษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าอาการปอดบวมเป็นรุนแรง อาจมีการหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ริมฝีปากเขียว อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ ขึ้นกับอายุของเด็ก ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เด็กอายุ 2-12 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป และเด็กอายุ 1-5 ปีมีอัตราการหายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป

การวินิจฉัย ดูจากประวัติผู้ป่วยคือ มีไข้ ไอ หอบ ร่วมกับการตรวจร่างกายจะพบว่ามีเสียงเสมหะผิดปกติในปอด กรณีที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดเสียงหายใจบริเวณนั้นจะเบาลง เคาะปอดแล้วได้เสียงทึบกว่าส่วนอื่น ในรายที่เป็นรุนแรงจะตรวจพบค่าออกซิเจนต่ำ โดยอาจเอกซเรย์ปอดและเจาะเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย นอกจากนี้การตรวจเพาะเชื้อเสมหะในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยในการวินิจฉัยและรักษาได้

การรักษา แบ่งเป็น 1. การรักษาจำเพาะ ในรายที่เป็นโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสจะไม่มียารักษาที่จำเพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคอง ในกรณีสงสัยเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7-21 วัน ขึ้นกับเชื้อและความรุนแรง

2. การรักษาทั่วไป ผู้ป่วยโรคปอดบวมที่มีอาการหอบ ไข้สูง เสมหะเหนียว เบื่ออาหาร การให้สารน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็น และในรายที่มีการหายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม และตรวจพบว่ามีออกซิเจนต่ำควรพิจารณาให้ออกซิเจนด้วย หากได้ยินเสียงวี๊ดให้ใช้ยาขยายหลอดลม และพิจารณาให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในรายที่อาการไอและมีเสมหะมาก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก ได้แก่ การจัดท่าระบายเสมหะ การเคาะปอด และช่วยดูดเสมหะเพื่อช่วยระบายเสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมออกมาได้

การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้และเช็ดตัว ในผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจแพทย์จะพิจารณาใส่ท่อหลอดลมคอและเครื่องช่วยหายใจ

สำหรับข้อพึงปฏิบัติเพื่อการป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคปอดบวมว่าหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ มีอนามัยส่วนบุคคล โดยฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตาหรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ที่สำคัญควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศหนาวเย็น เป็นต้นผู้เลี้ยงดูเด็กควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรนำมาพบแพทย์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น