ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สธ.เชียงใหม่จัดชุดลงพื้นที่ทำความเข้าใจป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกหลังยอดผู้ป่วยพุ่งทะลุกว่า 2 พันราย พร้อมเสนอศูนย์เด็กเล็กดูแลโรคมือ เท้า ปากที่กำลังระบาด แนะนำผู้ปกครองโอ๋ลูกมากเกินไปทำให้ภูมิต้านทานต่ำติดเชื้อง่าย
วันนี้(29 ก.ย.)ที่ ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นาง สุธีรัตน์ มหาสิงห์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดเชียงใหม่ ว่า สถานการณ์ไข้เลือกออกจังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 28 ก.ย. 2558 มีผู้ป่วยคนไทยจำนวน 2,454 ราย คนต่างด้าว 237 ราย เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 158.69 ต่อแสนประชากร ซึ่งมีเกณฑ์สูงกว่าปี 2557 ประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกัน และมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในเดือน พฤษภาคม และ สูงสุดในเดือนสิงหาคม และเริ่มลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อำเภอแม่ริม (345.97 ต่อแสนประชากร), อำเภอดอยสะเก็ด (325.93 ต่อแสนประชากร) และอำเภอฮอด (323.51 ต่อแสนประชากร) ส่วนใหญ่พบมากที่กลุ่มอายุ 15- 24 ปี และ 25 - 34 ปี และมีหมู่บ้านที่พบไข้เลือดออกแล้วจำนวน 797 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 38.31 ของหมู่บ้านทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 111 หมู่บ้านที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ และจากการส่งตัวอย่างเลือดเพื่อดูสายพันธ์ที่ระบาดในปีนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการระบาดของสายพันธ์ที่ 3 และ 4 ซึ่งปกติพบน้อยมาก
นางสุธีรัตน์ กล่าวว่า จากการประเมินการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาด พบประเด็นปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคของประชาชน, แหล่งน้ำขังที่มีลูกน้ำยุงลายเป็นจำนวนมาก, ภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลาย และการป้องกันตนเองจากการถูกกัดในเวลากลางวัน
นอกจากนั้นพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต มักเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน อีกทั้งไม่ทราบว่า ระยะไข้ลดเป็นช่วงที่อันตรายควรต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด กลุ่มส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานก่อสร้างและอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก อาทิ คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานด้วยกัน ที่เป็นสาเหตุทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก และทางสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกลงไปยังพื้นที่ เพื่อให้ความรู้และติดตามสถานการณ์รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาของพื้นที่ตลอดช่วงที่มีการระบาด
นางสุธีรัตน์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวน 840 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 50.04 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ป่วยลดลงจากปี 2557 ประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่พบการระบาดเกิดในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล ในปีนี้พบเชื้อ Entero virus 71 ระบาดหลายครั้ง แต่ยังไม่พบการป่วยที่มีความรุนแรง
ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคในเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่, มือ เท้า ปาก, ไข้เลือดออก, สุกใส และ ไวรัส RSV ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดของไวรัส RSV ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ส่วนลักษณะของอาการจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่แต่ในเด็กอาจมีโอกาสป่วยเป็น หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือ พบการตายในทารกเฉียบพลัน ซึ่งไวรัส RSV ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน เป็นแล้วสามารถเกิดซ้ำได้อีก ดังนั้นควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เช็ดตัวและทานยาลดไข้ รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหาร และดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนร่างกายอย่างเพียงพอ หาก 3 วัน ยังมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์
นางสุธีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลเฝ้าระวังในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ควรให้ความสำคัญในการคัดกรองผู้ป่วย การดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ของเล่นของใช้อย่างสม่ำเสมอ การล้างมือบ่อยๆ ทั้งเด็กและผู้ดูแลเป็นพฤติกรรมที่จะช่วยลดการระบาดของโรคได้มาก
และจากการสังเกตของทางสาธารณสุขเชียงใหม่พบว่า โรคมือ เท้า ปาก ที่แพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนมากสถานที่ที่พบเชื้อจะพบที่ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลของเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดที่มีการดูและรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี แต่อาจจะมีบางปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับการติดเชื้อ อาทิ การดูแลที่ดีเกินไปของทั้งผู้ปกครองและทางศูนย์เด็กเล็ก ทำให้เด็กที่อยู่ในศูนย์มีภูมิต้านทานโรคน้อยกว่าเด็กธรรมดาทั่วไปที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากกว่าเด็กที่อยู่ในห้องปรับอากาศ