xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.เชียงใหม่เผยยอดป่วยไข้เลือดออกทะลุหลักพัน เฉพาะ ก.ค.เพิ่ม 3 เท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เผยยอดผู้ป่วยไข้เลือดออก 7 เดือนทะลุหลักพัน สังเวยแล้ว 1 ราย พบเฉพาะ ก.ค. 58 เดือนเดียว 466 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 เท่าตัว ระบุมีความเป็นห่วงในช่วง 3 เดือนนับจากนี้จะยิ่งระบาดหนักรุนแรง เตือนประชาชนระวังป้องกันตัวเองและหมั่นตรวจสอบทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามบ้านเรือน

ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 58 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 58 มีผู้ป่วยรวมแล้วทั้งสิ้น 1,071 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 รายในพื้นที่อำเภอฮอด เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการรักษาช้าเกินไป โดยในปีนี้พบว่าการแพร่ระบาดของโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยในเดือน ก.ค. 58 มีผู้ป่วยจำนวน 466 ราย ขณะที่ ก.ค. 57 มีผู้ป่วย 150 ราย ส่วนค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่ 252 ราย

สำหรับพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีผู้ป่วยรวมแล้ว 198 คน รองลงมาเป็น อำเภอฮอด 124 ราย, อำเภอฝาง 96 คน และอำเภอดอยสะเก็ด 84 คน อย่างไรก็ตาม หากเป็นอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรแล้วพบว่า อำเภอฮอดมีอัตราผู้ป่วยสูงสุด 277.77 ต่อแสนประชากร รองลงมาเป็นอำเภอแม่วาง 140.67 ต่อแสนประชากร, อำเภอดอยสะเก็ด 136.28 ต่อแสนประชากร และอำเภอสะเมิง 114.32 ต่อแสนประชากร

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฏจักรของโรคหลังจากที่ในปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดลดน้อยลง ขณะเดียวกันอาจจะเนื่องมาจากการละเลยที่จะทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรค ทำให้เมื่อมีฝนตกและมีน้ำขังจนเกิดการเพาะขยายพันธุ์ของยุงลายอย่างรวดเร็วจนเกิดการระบาดของโรคมากขึ้น

ทั้งนี้ ดร.สุรสิงห์ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนนับแต่นี้เป็นต้นไป คือตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค. เมื่อคาดการณ์จากสถิติจะเป็นช่วงที่น่าจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวเองจากการโดนยุงลายกัด ด้วยการพยายามอยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวด, ใช้ยาทากันยุงไม่ให้ยุงกัด, หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มียุงชุกชุม และหมั่นตรวจสอบทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อยู่ในบ้านเรือน นอกจากนี้ หากมีอาการป่วยแล้วไม่แน่ใจควรพบแพทย์ทันที

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในการป้องกันควบคุมโรคด้วยการออกทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในชุมชน และฉีดยาพ่นฆ่ายุงทันทีในพื้นที่ใกล้เคียงที่พบว่ามีผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น