ตราด - ตายแล้วรายแรกไข้เลือดออกในจังหวัดตราด นายแพทย์สาธารณสุขตราดเผยแนวโน้มเพิ่มขึ้นเหตุช่วงนี้ฝนตก บอก ปชช.ระวังช่วยป้องกันยุงลายในภาชนะ ด้านอำเภอเกาะช้างอัตราป่วยสูงสุด
นพ.ชนัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-23 พฤษภาคม 2558 จังหวัดตราด มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว 202 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 90.99 ต่อแสนประชากร โดยอำเภอเมือง มีผู้ป่วยสูงสุด 104 คน อัตราป่วย 114.38 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ อำเภอกาะช้าง 33 ราย แต่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ 430.19 ต่อแสนประชากร อำเภอเขาสมิง 30 ราย อำเภอคลองใหญ่ 15 ราย อำเภอบ่อไร่ 15 ราย อำเภอเกาะกูด 3 ราย และอำเภอแหลมงอบ 2 ราย
สถานการณ์ไข้เลือดออกของจังหวัดตราดน่าเป็นห่วงจากปัจจัย 2 ประการ คือ ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกลงมาแล้วในจังหวัดตราด และจากแนวโน้มอัตราการป่วยที่มีเพิ่มขึ้น และสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากอันดับที่ 4 ลดมาที่ 5 และขึ้นมาอยู่อันดับ 3 และล่าสุด ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของประเทศแล้ว ทำให้ประเมินว่า สถานการณ์ของ จ.ตราด ปีนี้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี
“ล่าสุด ผู้ป่วยไข้เลือดออกรายหนึ่งของจังหวัดตราด ที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลตราด และถูกส่งไปที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรีได้เสียชีวิตลงแล้ว นับเป็นรายแรกของจังหวัดตราด นี่เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกมีความรุนแรงขึ้น จำเป็นที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ต้องเร่งดำเนินการควบคุมโรคโดยเร่งด่วน”
นพ.ชนัตน์ กล่าวว่า สิ่งที่ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกครัวเรือนก็คือ การควบคุมแหล่งเพาะยุงลายทั้งใน และนอกบ้านให้มีจำนวนลดลง เมื่อแหล่งเพาะพันธุ์น้อยลงการแพร่ระบาดก็จะลดลง แต่ต้องทำสม่ำเสมอ จากทางชีวภาพ ต้องใส่ปลาหางนกยูงเพื่อให้กินลูกน้ำในแหล่งเพาะ เช่นภาชนะต่างๆ ทางกายภาพต้องคว่ำ หรือปิดถ้วย ถัง อ่าง เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ และทางเคมีต้องใช้ทรายอเบตใส่ลงในภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อฆ่าลูกน้ำ หากทำได้การแพร่ระบาดจะลดลง
ส่วนเด็กอายุ 5-10 ปี อย่าให้ถูกยุงลายกัด เพราะเป็นกลุ่มที่ป่วยมากที่สุด หากนอนต้องใช้มุ้งครอบ ใช้ยากันยุงป้องกัน ซึ่งยุงลายจะหากินในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนหากเปิดไฟยุงลายก็มาหากินต้องระวังเช่นกัน และหากพบว่ามีอาการป่วย ไข้ขึ้นสูง ซึม อาเจียน ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะหากไปพบเร็วจะสามารถพ้นวิกฤตจากไข้เลือดออกได้
ด้าน นางกนกศิลป์ แช่มช้อย อายุ 27 ปี อยู่ที่บ้านลำภูลาย ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด พี่สาวฝาแฝดของ นางกนกวรรณ แช่มช้อย อายุ 27 ปี ผู้เสียชีวิต บอกว่า ทราบว่าป่วยมาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 โดยมาตรวจที่คลินิกที่ตราด เพราะมีอาการปวดหัว ตัวร้อน และเป็นไข้ แต่ทางแพทย์บอกว่า เป็นไข้หวัดธรรมดาจึงให้กลับบ้าน แต่เมื่ออยู่ที่บ้านอาการยังไม่หายจึงเดินทางไปที่สถานีอนามัยข้างบ้าน กระทั่งวันที่ 16 พ.ค.จึงเดินทางมาที่โรงพยาบาลตราด อีกครั้ง เนื่องจากปวดท้องจนตัวงอ และอาเจียน จึงรู้ว่าเป็นไข้เลือดออก จึงเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ตราด และต้องเข้าห้องไอซียู
เนื่องจากอาการหนักแพทย์ต้องให้นอนห้องไอซียู แต่นอนได้ 2 วัน ค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 แสนจึงเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี นอนได้ 1 คืน คนไข้มีอาการเหม่อลอย จึงทำการตรวจอาการ พบว่า มีเลือดไหลที่ตับ จึงต้องส่งไปล้างไต และตับที่โรงพยาบาลปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม และต้องทำวันละ 3 ครั้ง แต่ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 น้องสาวก็เสียชีวิต
“วันนี้ต้องนำหลาน 2 คนมาอยู่ที่บ้านเนื่องจากสามีผู้ตายก็พบว่ ป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่ยังอยู่ในอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก และรักษาตัวอยู่เช่นกัน แต่เมื่อมาตรวจครั้งล่าสุดไม่พบเชื้อแล้ว จึงออกมาดูแลสวนผลไม้ และลูก 2 คน ซึ่งในหมู่บ้านกลัวเรื่องไข้เลือดออกมาก ทางสาธารณสุข จ.ตราดได้นำยามาพ่นเพื่อป้องกันระดับหนึ่งแล้ว”