xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจน้ำดื่ม-น้ำแข็ง ตกมาตรฐาน 43% เจอเชื้อจุลินทรีย์ กรดด่างเพี้ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์เผยผลตรวจน้ำดื่ม - น้ำแข็งปี 58 พบ ไม่ได้มาตรฐานถึง 43.4% พบค่ากรด - ด่าง สูงต่ำกว่ามาตรฐาน ปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม อีโคไล เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ สะท้อนกระบวนการผลิตต้องปรับปรุง จี้ผู้ผลิตแก้ไข

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ รวม 77 จังหวัด ระหว่าง ธ.ค. 2557 - ก.ค. 2558 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,750 ตัวอย่าง จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่าง และน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง พบว่า มีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐาน 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 แบ่งเป็น 1. ไม่ได้มาตรฐานด้านกายภาพและเคมี 1,584 รายการ คิดเป็นร้อยละ 63.2 สาเหตุหลักมาจากความเป็นกรด - ด่าง ที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 1,505 รายการ ร้อยละ 60.1 ปริมาณไนเตรท 47 รายการ ร้อยละ 1.9 และปริมาณฟลูออไรด์ จำนวน 32 รายการ ร้อยละ 1.3 และ 2.ไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 921 รายการ ร้อยละ 36.8 สาเหตุจากพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 737 รายการ ร้อยละ 29.4 เชื้ออีโคไล 153 รายการ ร้อยละ 6.1 เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 22 รายการ ร้อยละ 0.9 และเชื้อซาลโมเนลล่า 9 รายการ ร้อยละ 0.4

ค่าความเป็นกรด - ด่าง สูงหรือต่ำกว่าค่ากำหนด คือ 6.5 - 8.5 สาเหตุอาจมาจากคุณภาพน้ำดิบหรือกรรมวิธีการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคมากนัก สำหรับปัญหาด้านจุลินทรีย์ พบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐานมากสุด รองลงมา คือ เชื้ออีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะของการผลิตที่ไม่เหมาะสม ส่วนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ ตรวจพบเล็กน้อย ดังนั้น น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งในภาพรวมของประเทศ ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ถึงจะตรวจพบความไม่ปลอดภัยในระดับต่ำ ฉะนั้น การปรับปรุงด้านสุขลักษณะการผลิต การพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ไข ซึ่งกรมฯ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.อภิชัย กล่าวว่า สำหรับผู้บริโภค ควรเลือกซื้อน้ำดื่มและน้ำแข็ง ที่บรรจุในภาชนะที่สะอาดปิดสนิท ไม่รั่วซึมโดยการทดลองยกขวดเอียงไปมาต้องไม่มีน้ำหกออกจากขวด ไม่มีร่องรอยการเปิดขวด และฉลากต้องระบุเลข อย. ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนน้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองน้ำก็ควรมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดและควรสังเกตน้ำที่กรองออกมา ถ้าน้ำขุ่นหรือมีตะกอนก็ไม่ควรนำมาดื่ม ทั้งนี้การฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มอาจทำได้ง่าย ๆ ด้วยการต้มน้ำให้เดือด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น