xs
xsm
sm
md
lg

ยาสีฟันเกินครึ่งไม่ระบุปริมาณฟลูออไรด์ เด็กเสี่ยงรับเกินขนาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! ยาสีฟันเด็กเกินครึ่งไม่ระบุปริมาณฟลูออไรด์ ทำพ่อแม่ไม่รู้ปริมาณที่แท้จริง ขณะที่เด็กชอบกลืนยาสีฟัน เสี่ยงได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ฟันตกกระ เล็งหารือ อย. แก้ไข กำหนดระบุปริมาณฟลูออไรด์ลงฉลาก หลังลงนามอาเซียนแล้วยกเลิกการระบุปริมาณ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1,000 ppm สามารถป้องกันฟันผุได้ร้อยละ 30 ทั้งนี้ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์จัดเป็นเครื่องสำอางที่ต้องอยู่ในการควบคุมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ให้ผสมได้ไม่เกิน 0.11% หรือ 1,100 ppm เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับฟลูออไรด์เกิน โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งพบว่าการแปรงฟันแต่ละครั้ง เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จะกลืนยาสีฟันถึง 1 ใน 3 โดยเด็กจะกลืนลงไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป เกิดปัญหาฟันตกกระในฟันแท้ คือผิวฟันอาจมีหลุมสีดำหรือน้ำตาล ซึ่งปกติฟันแท้มีสีขาวขุ่น อีกทั้งยาสีฟันสำหรับเด็กมักแต่งกลิ่นเติมรสเพื่อให้เด็กชอบ อยากแปรงฟัน ทำให้เด็กบางคนกินยาสีฟันด้วย โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กได้รับฟลูออไรด์เกินได้

การระบุปริมาณฟลูออไรด์บนฉลากยาสีฟันสำหรับเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม แต่จากการเฝ้าระวังตรวจวัดปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับเด็กที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเขต กทม. และปริมณฑล เมื่อปลายปี 2556 จากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ 37 รุ่น พบว่า ยาสีฟันสำหรับเด็ก 34 รุ่น หรือร้อยละ 92 มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสม มีเพียง 13 รุ่นที่ระบุปริมาณฟลูออไรด์ไว้ที่ฉลากยาสีฟัน ส่วนอีก 21 รุ่นไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ให้ผู้บริโภคทราบ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กบางยี่ห้อไม่ได้ระบุปริมาณฟลูออไรด์ลงในฉลากผลิตภัณฑ์ เนื่องจากไทยได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน โดยจัดทำฉลากเครื่องสำอางในลักษณะที่เป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้า ซึ่งคณะกรรมการเครื่องสำอางจึงได้ออกประกาศปี 2554 ให้ระบุชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปน้อย และคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล แต่ไม่ได้ให้ระบุปริมาณของสารที่เป็นส่วนผสมเอาไว้ด้วย จึงมีผลทำให้ยาสีฟันไม่จำเป็นต้องระบุปริมาณฟลูออไรด์

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า กรมอนามัยได้เตรียมหารือร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาดำเนินการให้มีการระบุปริมาณฟลูออไรด์ในฉลากยาสีฟันสำหรับเด็ก เพื่อประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลือกซื้อยาสีฟัน นอกจากนี้ ขอแนะนำให้พ่อแม่เตรียมยาสีฟันใส่แปรงให้เด็กเพียงบางๆ และดูแลการแปรงฟันให้ดี บีบยาสีฟันให้และช่วยแปรงฟัน เพราะเด็กมักชอบกลืนยาสีฟัน โดยเฉพาะช่วงก่อนอายุ 3 ขวบ เป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในฟันหน้ามากที่สุด ดังนั้น เด็กเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นจนถึงอายุ 3 ขวบ ควรเลือกยาสีฟันผสมฟูลออไรด์ปริมาณ 500 ppm ใช้ปริมาณน้อยๆ คือแตะพอชื้น ส่วนเด็กอายุ 3 - 6 ขวบ ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว เด็กอายุมากกว่า 6 ปี ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1,000 ppm เพราะสามารถควบคุมการกลืนได้แล้ว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น