โดย...กุลวัต ประเสริฐสุนทราศัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลปิยะเวท
คุณผู้ชายที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคน เริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เคยสังเกตตัวเองไหมว่าคุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะสะดุด เบ่งนานกว่าจะออก เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาทันที และกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ปัสสาวะเล็ด หรือไหลเป็นหยด ๆ ก่อนและหลังถ่ายปัสสาวะเสร็จ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
อาการที่ว่ามานี้จะเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนหลังจากอายุ 50 ปี ขึ้นไปแล้ว เนื่องจากผู้ชายวัยนี้จะพบปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะได้บ่อยมาก สาเหตุมาจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้นไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้เกิดอาการปัสสาวะผิดปกติ อาการของแต่ละคนจะแสดงออกมามากน้อยต่างกัน และเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดอาการดังกล่าวก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ต่อมลูกหมากเป็นอัวยวะสืบพันธุ์ของเพศชายทุกคน ที่มีมาตั้งแต่เกิด ต่อมลูกหมากมีขนาดเท่ากับลูกเกาลัด อยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ และสารพีเอสเอ (PSA : Prostate Specific Antigen) โรคต่อมลูกหมากโต ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ขนาดของต่อมลูกหมากจะมีการโตขึ้นตามอายุ อันเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย (Testosterone) ในช่วงอายุ 30 - 40 ปี ต่อมลูกหมากจะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นจะหยุดโต จนกระทั้งอายุ 40 - 50 ปี ก็อาจจะเกิดการขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ และเมื่อมีขนาดโตมากขึ้น จึงส่งผลให้ต่อมลูกหมากไปกดเบียดให้ท่อปัสสาวะส่วนต้นที่ต่อมลูกหมากล้อมรอบอยู่ให้แคบลง ทำให้การขับปัสสาวะลำบากขึ้น อาการที่แสดงออกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาการระคายเคือง เช่น ปัสสาวะกลั่นไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราดเวลาปวด ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกเหมือนว่ายังมีปัสสาวะค้างอยู่ 2. กลุ่มอาการอุดกั้น เช่น ปัสสาวะต้องรอ ไม่ออกทันที ปัสสาวะต้องเบ่ง ปัสสาวะพุ่งไม่แรง หรือปัสสาวะหยุดเป็นช่วง ๆ เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการและอายุของคนไข้ ซักประวัติเพื่อแยกสาเหตุ นอกจากนี้ แพทย์อาจจะให้คนไข้ทำแบบสอบถามอาการด้านปัสสาวะของตัวเอง เพื่อประมาณความรุนแรงและใช้ในการติดตามอาการหลังจากรักษา จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจทางทวารหนักเพื่อประเมินขนาดของต่อมลูกหมากแล้วเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในรายที่อาการยังน้อย การปรับพฤติกรรมอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปโดยเฉพาะเวลาจะเข้านอน งดชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย แต่ในรายที่อาการเริ่มหนักแล้วแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไขการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ โดยมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ได้แก่ ปัสสาวะไม่ออกหลายครั้งติด ๆ กัน มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก ไตวายเนื่องจากปัสสาวะลำบาก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยวิธีการส่องกล้อง (Transurethral Resection of the Prostate : TURP) เป็นการนำเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากออกมา จะนำเครื่องมือผ่านท่อปัสสาวะ แพทย์จะมองผ่านทางกล้องแล้วตัดเอาเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดตันท่อปัสสาวะออก
2. การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการใช้เลเซอร์ (Photoselective Vaporization of Prostate : PVP) or Thulium laser prostatectomy เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้เลเซอร์เพื่อตัดต่อมลูกหมาก โดยอาจตัดเพียงบางส่วนที่อุดตัน ท่อปัสสาวะออก ข้อดีคือ การผ่าตัดทำได้ง่ายกว่า เสียเลือดน้อยกว่า และกลับบ้านได้เร็วขึ้น
อันตรายอีกอย่างที่ต้องระวังของชายสูงวัย คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับโรคต่อมลูกหมากโต แต่พบได้บ่อยในชายสูงวัยเช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจมีอาการคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต เราจึงไม่ควรมองข้ามอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเรา ดังนั้น ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและหาวิธีการรักษาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่