xs
xsm
sm
md
lg

หมอคาด “เด็กกลัวข้าว” เลี้ยงดูผิด-โรคโฟเบีย-ขาดสารอาหาร แนะตรวจหาสาเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์คาดเด็กกลัว “ข้าว” เกิดจากจิตใจ ระบุตรวจสอบเกิดจากการเลี้ยงดู หรือภาวะโฟเบีย แนะปรับพฤติกรรม ทำเมนูข้าวพร้อมเล่านิทานจูงใจ ห้ามบังคับ ด้านกุมารแพทย์ชี้ภาวะขาดสารอาหาร ส่งผลเด็กมีพฤติกรรมแปลก ๆ ได้

วันนี้ (6 ต.ค.) พญ.อัมพร เบจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเด็กชายอายุ 3 ขวบ จ.แม่ฮ่องสอน มีอาการกลัวข้าวและอาหารที่มีลักษณะเป็นเม็ด ว่า น่าจะเป็นเรื่องของจิตใจ เพราะถ้าเด็กแพ้สารอาหารบางอย่างในข้าวจะแสดงอาการทางกาย เช่น เป็นผื่น อาเจียน แต่ไม่ได้เกิดความกลัว แต่จากการที่เด็กกลัวข้าวมาก จึงต้องมาหาสาเหตุของความกลัวว่าเพราะอะไร เกิดจากการเลี้ยงดูหรือไม่ หรือเป็นโรคทางจิตเวช “โฟเบีย” คือ กลัวสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีเหตุผล แม้จะรู้ว่าไม่มีอันตราย โดยม่สามารถห้ามความรู้สึกได้ เช่น กลัวความสูง กลัวความแคบ เป็นต้น ทำให้มีอาการกระสับกระส่าย อึดอัด และเป็นทุกข์ แต่ส่วนใหญ่มักพบในเด็กโตจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุมาจากโครงสร้างของจิตใจ หรือสัมพันธ์กับการเลี้ยงดู และประสบการณ์อันเลวร้าย

ถ้าเป็นเรื่องการเลี้ยงดูก็ต้องพิจารณาว่าเป็นปัญหาเรื่องการบังคับให้รับประทานอาหารหรือไม่ เช่น เด็กมีปัญหาการบดเคี้ยว มีแผลในช่องปาก กลืนอาหารแล้วทำให้เจ็บปวด แต่ถูกบังคับให้รับประทานจนกลัวข้าว หากเป็นแบบนี้เรียกว่าภาวะโฟเบียปลอม เป็นต้น การแก้ไขไม่ว่าจะปัญหาจากการเลี้ยงดูหรือโฟเบีย คือต้องปรับพฤติกรรม โดยเริ่มจากการปรุงอาหารให้น่ารับประทาน มีรสชาติที่เด็กชอบ แต่อย่าบังคับให้รับประทาน ควรเริ่มจากการรับประทานเพียงคำเดียว เล็กๆ แล้วชื่นชม รวมถึงการใช้การเล่น การเล่านิทานจูงใจ เช่น ยกเอาฮีโร่ที่เด็กชอบมาบอกเล่าว่าที่เก่งและฉลาดเพราะรับประทานข้าว นอกจากนี้ ครอบครัวต้องรับประทานข้าวเป็นตัวอย่าง สร้างบรรยากาศเชิญชวน แต่ถ้าเด็กเป็นโรคโฟเบียอาจต้องเพิ่มความเข้มข้น โดยมีแพทย์และจิตแพทย์ร่วมรักษา ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อขอรายละเอียดแล้ว สำหรับกรณีนี้เกิดขึ้นในเด็ก 3 ขวบ น่าจะรักษาหายได้ แต่ต้องใช้เวลา” ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ยังไม่อยากให้มุ่งไปที่เรื่องของจิตใจ แต่อยากให้ดูที่ประวัติของเด็กว่าเป็นอย่างไร และต้องมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่าเด็กขาดสารอาหารตัวใดหรือไม่ เพราะการขาดสารอาหารบางตัวส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมแปลก ๆ ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ เช่น ขาดธาตุเหล็ก เด็กบางคนจะอยากรับประทานดิน ขาดวิตามินซี จะทำให้เด็กอยากรับประทานแค่อาหารเหลว ไม่ยอมรับประทานของแข็ง และตรวจการแก้สารอาหารด้วย เพราะบางครั้งดื่มนมแล้วท้องเสีย หรือขนมปังที่ทำจากแป้งสาลีแล้วท้องเสีย ตรงนี้ก็อาจจะเป็นเพราะการแพ้อาหารได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารอาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เช่น ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำมาจากข้าว มาประกอบเมนูต่าง ๆ แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้รับประทานได้เหมาะสมกับช่วงวัย แต่อย่าเพิ่งไปบังคับ ให้ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อโตขึ้นเด็กอาจจะปรับพฤติกรรมได้และยอมรับการรับประทานข้าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น