xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขอราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ช่วยฟันธงลดระดับ “ยาบ้า” ตัวใดใช้ทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ขอ “ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ” ฟันธงลดระดับ “ยาบ้า” ตัวใดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ใช้ทางการแพทย์ เผย “แอมเฟตามีน” นำมาใช้ได้มากกว่า ระบุ 20% ต้องใช้ยาแอมเฟตามีนร่วมบำบัด

วันนี้ (30 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เตรียมลดระดับ “ยาบ้า” จากยาเสพติดให้โทษประเภท 1 มาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ว่า ยาบ้านั้นมี 2 ตัว คือ เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน การที่จะลดระดับลงจากยาเสพติดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็ต้องมาทำข้อมูลให้ชัดเจนว่า จะใช้ประโยชน์ตัวไหน ซึ่งที่มีการคุยกันในทางการแพทย์ แอมเฟตามีน มีข้อมูลว่าใช้ได้มากกว่า เมทแอมเฟตามีน เพราะตัวเมทแอมเฟตามีน มีผลกระทบต่อสมองมากกว่า ดังนั้น หากจะลดระดับน่าจะเป็นแอมเฟตามีน แต่คงต้องมีการศึกษาข้อมูลว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนความพร้อมของสถานพยาบาลในการบำบัดรักษา สธ. ถือว่ามีความพร้อม

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พบว่า ร้อยละ 80 สามารถรักษาได้ด้วยการประคับประคอง โดยไม่ต้องใช้ยาแอมเฟตามีน แต่มีร้อยละ 20 อาจต้องใช้ร่วมในการรักษา ก็ต้องมาดูว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์จริง ๆ กันแน่ ตรงนี้กำลังทำข้อมูลอยู่ ซึ่งเบื้องต้นการรักษา หากผู้ป่วยติดยาไม่รุนแรง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาล สธ. สามารถดูแลได้ แต่หากมีโรคจิตเวชร่วมด้วยก็สามารถส่งมายังโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้ สธ. อยู่ระหว่างทำระบบรองรับการผ่องถ่ายผู้เสพจากกรมควบคุมความประพฤติประมาณ 1 แสนคน มาเป็นผู้ป่วยของ สธ. คาดว่า จะผ่องถ่ายมาที่ สธ. ได้ประมาณ ต.ค. นี้ ส่วนที่ว่าควรลดระดับเมทแอมเฟตามีน หรือแอมเฟตามีนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่า น่าจะต้องเชิญราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา เพื่อจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น