xs
xsm
sm
md
lg

สภาวิชาชีพหนุนไกด์ไลน์ “หมอ-พยาบาล” ใช้โซเชียล คิดก่อนโพสต์ แชร์ ลดปัญหาดรามา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 ภาพจาก http://www.pi.ac.th/news/329
สภาวิชาชีพ “พยาบาล - เภสัชฯ” หนุนทำไกด์ไลน์การใช้โซเชียลมีเดียของบุคลากรทางการแพทย์ ชี้ช่วยให้คิดและตระหนักก่อนโพสต์ หรือแชร์มากขึ้น ใช้งานได้เหมาะสม ลดปัญหาดรามาตามมา ยันไม่ละเมิดสิทธิ แต่ช่วยตระหนักสิทธิของตัวเองและผู้อื่น

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มอบหมายให้ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำแนวทางปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) การใช้โซเชียลมีเดียของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล เภสัชกร เป็นต้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานและมาตรฐานในการโพสต์ข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือการแชร์ข้อมูลใดๆ บนโลกออนไลน์ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย

วันนี้ (30 ก.ย.) ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ทุกวันนี้จะเห็นข่าวบุคลากรทางการแพทย์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น การที่จะมีการจัดทำไกด์ไลน์ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการใช้งานของโซเชียลมีเดีย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพต่างก็มีวุฒิภาวะและวิจารณญาณ แต่การมีไกด์ไลน์ก็จะช่วยเพิ่มความตระหนักต่อการใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็ถือเป็นการลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนที่ไกด์ไลน์จะร่างเสร็จภายใน 2 - 3 เดือน และมีการทำประชาพิจารณ์ โดยให้แต่ละสภาวิชาชีพเข้าร่วมด้วยนั้นเป็นเรื่องที่สมควร เพราะอย่างสภาการพยาบาลในฐานะที่ดูแลผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐาน ก็ควรมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น และนำมาชี้แจง ประชาสัมพันธ์ต่อผู้ประกอบวิชาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกไกด์ไลน์การใช้โซเชียลของบุคลากรทางการแพทย์มองว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิหรือไม่ เพราะอาจต้องมีความระมัดระวังในการโพสต์ต่างๆ แม้แต่เรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ดร.กฤษดา กล่าวว่า คงไม่ถึงกับเป็นการละเมิดสิทธิในการโพสต์ของบุคลากรทางการแพทย์ แต่จะช่วยให้เราตระหนักถึงสิทธิของตัวเองและสิทธิของผู้อื่นมากขึ้นมากกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อมีสิทธิก็ย่อมตามมาด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ การมีไกด์ไลน์มองว่าก็ช่วยทำให้ชัดเจนขึ้นว่าใช้โซเชียลมีเดียได้ประมาณไหนถึงจะเหมาะสม

ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การมีกฎเกณฑ์แนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งปัจจุบันคนสนใจเรื่องราวในโซเชียลมีเดียมากขึ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ การแชร์อะไรออกไป ซึ่งบางครั้งไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงหรือไม่อย่างไร บางครั้งก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นได้ หากข้อมูลเหล่านั้นไม่เป็นความจริง การทีไกด์ไลน์เหล่านี้ก็จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ตระหนัก ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบมากขึ้น ก่อนที่จะโพสต์หรือจะแชร์ข้อมูลใด ๆ ออกไป มีความระมัดระวัง และตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสภาเภสัชกรรมก็พร้อมรับพิจารณาในไกด์ไลน์ดังกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น