xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งศูนย์ส่องกล้องฯ ค้นหามะเร็งทางเดินอาหารระยะเริ่มต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ลงนามร่วม ม.นาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เปิดศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ตั้งเป้าเป็นศูนย์ฝึกอบรมค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้นของอาเซียน เน้นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ชี้ พบเร็วรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อย พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ อบรมบุคลากรการหาสาเหตุโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารทั้งหมด

วันนี้ (30 ก.ย.) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งที่พบมาก อันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง โดยพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักรายใหม่ราว 10,624 ราย การป้องกันและควบคุมจึงเป็นเรื่องสำคัญในการลดอัตราการเกิดโรค เพราะสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระยะลุกลาม สำหรับการจัดตั้งศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพและความรู้ของแพทย์และบุคลากร ตลอดจนสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมด้านการส่องกล้องและการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก โดยศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ในการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้นในภูมิภาคอาเซียน

วันเดียวกัน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายยาซูฮิสะ ชิโอซากิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กับมหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น พัฒนาศักยภาพและความรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ตลอดจนสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมด้านการส่องกล้องและการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และประสบการณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เพื่อตรวจ วินิจฉัย วิจัยหาสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับและตับอ่อน หากค้นหาได้ในระยะเริ่มแรก จะรักษาได้ผลดี เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้สูงขึ้น ดังนั้นความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคมะเร็งของสองประเทศครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพ อันจะส่งผลไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยและประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี และมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 61,000 คน จากสถิติสาธารณสุขปี พ.ศ. 2554 พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งหมด 111,864 คน โดยพบผู้ป่วยมะเร็งตับ 47,052 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 49,855 คน ดังนั้น เพื่อลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง จึงต้องเร่งป้องกันและควบคุม โดยการตรวจคัดกรองให้ได้ตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกที่โรคยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ทำการรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษามะเร็งในระยะลุกลาม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น