xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเพ่งจอคอมพ์-มือถือเกิน 2 ชั่วโมง เสี่ยงโรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เตือนเพ่งจอมือถือ คอมพิวเตอร์ นานเกิน 2 ชั่วโมง เสี่ยงโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมสูง ส่งผลปวดแสบตา ตามัว ตาแห้ง ปวดไหล่ ปวดหลัง แนะวิธีถนอมสายตา ยึดสูตร 20 - 20 - 20

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วิถีการทำงานในยุคสังคมดิจิตอลน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการใช้สายตาทำงานบนจอคอมพิวเตอร์หรือการติดต่อสื่อสารผ่านแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน หากใช้ระยะเวลานานติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง หรือการทำงานที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวัน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างเรียกว่า อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ ซีวีเอส (Computer Vision Syndrome : CVS) เช่น มีอาการแสบตา ปวดตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่หรือปวดหลัง ระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลอย่างระมัดระวัง เพื่อถนอมสายตาให้ยืนยาว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม นอกจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้ว ยังเกิดมาจากตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม มีแสงสว่างหรือแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไป ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอคอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงาน ที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดมาจากความผิดปกติสายตาของผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิตอลเอง ที่ไม่ได้รับการแก้ไข วิธีการปฏิบัติป้องกันที่ดีที่สุด คือ 1.วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20-28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 4-5 นิ้ว 2.ปรับแสงสว่างหน้าจอให้พอเหมาะและไม่สว่างเกินไป อาจใช้กระจกกันแสงสะท้อนติดที่หน้าจอ เพื่อลดแสงสะท้อนเข้าดวงตา 3.ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ โดยใช้ “สูตรการพักสายตา 20 - 20 - 20” คือละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 นาที แล้วมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลอย่างน้อย 20 ฟุต นานประมาณ 20 วินาที

"ขณะทำงานหน้าจอ ควรกระพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดวงตา สำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง ควรตรวจและแก้ไขความผิดปกติสายตาโดยใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่หน้าจอได้อย่างชัดเจน และลดการเพ่งมองที่หน้าจอ ป้องกันอาการปวดตาหรือแสบตาได้ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรปรึกษาจักษุแพทย์" อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น