xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกทำผู้ใหญ่ดับอื้อ เหตุประมาท ไม่คิดว่าป่วย มา รพ.ช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เผย ไข้เลือดออกคร่าชีวิตแล้ว 54 ราย ชี้ 40% เกิดในผู้ใหญ่ เหตุประมาทไม่คิดว่าป่วย มาโรงพยาบาลช้า ย้ำเตือนรีบไปพบแพทย์ หวั่นอัตราป่วยพุ่งสูงถึง 8 หมื่นราย

วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้วประมาณ 66,000 ราย คิดเป็นอันตราป่วย 62.16 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 54 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 0.08 รายต่อแสนประชากร โดยภูมิภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง สำหรับจังหวัดที่มีการระบาดมากที่สุด คือ ระยอง เพชรบุรี ตราด ราชบุรี และแพร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่า ในปีนี้จะมีผู้ป่วยสูงถึง 80,000 ราย อัตราการเสียชีวิตน่าอยู่ที่ 0.09 รายต่อแสนประชากร ซึ่งทางกรมฯ จะดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้อัตราการเสียชีวิตสูงเกิน 0.1 รายต่อแสนประชากร โดยขณะนี้มีการเปิดวอร์รูมติดตามสถานการณ์ในจังหวัดเสี่ยง

นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่น่ากังวล คือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบเป็นผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป มากถึง 40% สาเหตุเพราะขาดความตระหนัก คิดว่าโรคนี้จะไม่เป็นในผู้ใหญ่ พอเจ็บป่วย ปวดเนื้อตัว จึงมาโรงพยาบาลล่าช้า ไม่ทันการณ์ ซึ่งยิ่งเป็นในคนอ้วนน้ำหนักตัวมากจะยิ่งอันตราย จึงขอเตือนให้ประชาชนระวัง ป้องกัน และตระหนักถึงอันตราย ถ้าในชุมชนมีผู้ป่วยต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชนทราบ และทำการป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์การระบาดเริ่มชะลอตัว แต่ก็ยังพบผู้ป่วยรายใหม่อยู่ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2557 แล้ว ถือว่าพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า การระบาดของไข้เลือดออกจะพบมากในช่วงหน้าฝน เดือน ก.ค.- ก.ย. แต่ปีนี้ฝนตก ๆ หยุด ๆ จึงยังไม่ทราบชัดเจน อีกทั้งยังพบการระบาดในประเทศที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน เช่น ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นเพราะอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นจริง ๆ เพราะปกติแล้วยุงลายจะไม่วางไข่ในที่ที่มีอากาศเย็น ดังนั้น จากสถานการณ์ที่พบอาจจะต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดเพิ่มขึ้นอีก โดยใช้มาตรการเดิมเพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการมาตรฐานป้องกันในพื้นที่ เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น