xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อก่อโรคปอดบวมดื้อยามากขึ้น ไทยเร่งพัฒนาห้องแล็บเฝ้าระวังร่วมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พบเชื้อดื้อยาในไทยมากขึ้น เชื้อก่อโรคปอดอักเสบในเด็กดื้อยาถึง 77% จากเดิม 47% กรมวิทย์เร่งพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเชื้อดื้อยาของไทย และอาเซียน ให้มีระบบเฝ้าระวัง และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาในทิศทางเดียวกัน

พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพระดับประชาคมอาเซียน” ว่า จากการศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะเชื้อหลายชนิดมีแนวโน้มการดื้อยามากขึ้นเป็นลำดับ เช่น เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบที่พบในเด็กไม่เกิน 5 ขวบ มีการดื้อยามากขึ้นโดยปี 2541 พบ 47% แต่ปี 2556 พบ 77.8% และเชื้ออีโคไล (E.coli) มีแนวโน้มดื้อยากลุ่ม carbapenems อย่างต่อเนื่อง

พญ.มยุรา กล่าวว่า สถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญด้านแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก ส่วนภูมิภาคอาเซียนนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยา ประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ ด้านการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีการปรับพื้นฐาน ทบทวนความรู้และมาตรฐานใหม่ ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเทคนิคการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น